เรื่องนี้ต้องขยาย : พระมหากัสสปะ (ตอนที่ 3)

0
30

เรื่องนี้ต้องขยาย (พระมหากัสสปะ ตอนที่ ๓)
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๕

เราท่านทั้งหลายพอได้ทราบประวัติ ของท่านพระมหากัสสปะมาระดับหนึ่งแล้ว

หลายคนอาจจักเกิดข้อสงสัยว่า เหตุอันใดหนอท่านพระมหากัสสปะถึงได้มีคุณสมบัติได้รับการยอมรับจากองค์พระบรมศาสดาว่า เป็นผู้มีธรรมอันเสมอพระองค์ ทั้งยังได้รับผ้าสังฆาฏิของพระพุทธเจ้าจากพระหัตถ์อีกด้วย

เรื่องเหล่านี้ถ้าเราท่านทั้งหลายเชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดมาจากเหตุ เหตุที่พระมหากัสสปะได้รับการยกย่องดังนั้นก็มาจากมูลเหตุในอดีตชาติของท่านความว่า

ในกาลแห่งพระศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหากัสสปเถระนี้ ได้บังเกิดขึ้นในเรือนตระกูลหงสาวดีนคร มีเศรษฐีชื่อว่า ” เวเทหะ ” ในชาตินั้นพระเถรีได้เป็นชายาของท่านเศรษฐี

วันหนึ่งได้ไปสดับฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาจบการแสดงพระธรรมเทศนา ท่านได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระปทุมุตตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังฉันภัตตาหารอยู่ที่บ้านของท่านนั้น พระมหานิสภะเดินบิณฑบาตผ่านมาพอดี ท่านจึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในบ้าน พระมหานิสภะปฏิเสธเพราะท่านสมาทานธุดงค์ครอบทั้ง ๑๓ ข้อ และธุดงค์อยู่ในข้อหนึ่งว่าด้วยการฉันแต่เฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มา

โดยจะไม่ยอมฉันในที่นิมนต์ ท่านจึงให้คนจัดอาหารมาใส่บาตร ครั้นพระมหานิสภะกลับไปแล้ว ท่านได้กราบทูลเรื่องพระมหานิสภะให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระมหานิสภะในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องธุดงค์ ยิ่งทำให้ท่านเกิดความเลื่อใสจึงถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเพิ่มอีกเป็น ๗ วัน วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครอง แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระปทุมุตตสัมมาสัมพุทธเจ้าพลางกราบทูลว่า

” ข้าแต่พระบรมศาสดาจารย์ ตลอด ๗ วันที่ข้าพระองค์ถวายมหาทานอยู่นี้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ข้าพระองค์ไม่จำนงถึงซึ่งสมบัติอย่างอื่น ไม่ว่าสวรรค์สมบัติหรือมนุษย์สมบัติ นอกจากนิพพานสมบัติเท่านั้น ด้วยผลบุญนี้ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในด้านสมาทานธุดงค์เหมือนพระมหานิสภะ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในกาลข้างหน้านี้เถิด พระเจ้าข้า “

พระปทุมุตตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพิจารณาเห็นว่าการตั้งปณิธานของกุลบุตรผู้นี้จักสำเร็จสมมโนรถเป็นแน่แท้ จึงมีกระแสพระพุทธฏีกาว่า

” ในที่สุดอีกแสนกัปข้างหน้า จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระโคดม จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผลและได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์”

เศรษฐีได้ฟังพุทธพยากรณ์ดังนั้น ก็มีความร่าเริงเบิกบานใจ จึงได้ตั้งใจสร้างบารมียิ่งๆ ขึ้นไป ได้บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่เรื่อยมาจนตลอดอายุขัย

เมื่อพระปทุมุตตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว ท่านเศรษฐีจึงได้เชิญชวน หมู่ญาติมิตรมาประชุมกัน แล้วได้สร้างพระสถูปเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะสูง ๗ โยชน์ รุ่งเรืองดังพระอาทิตย์ส่องแสงในยามฟ้าใส และได้ปลูกต้นรังมีดอกบานสะพรั่งเพื่อบูชาพระศาสดา

ส่วนภรรยาของเศรษฐีได้ให้ช่าง ๗ คน เอารัตนะ ๗ อย่างทำเป็นตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง เอาน้ำมันหอมใส่จนเต็มทุกดวง ให้ตั้งประทีปไว้ในอาณาบริเวณโดยรอบพระเจดีย์ แสงประทีปได้ลุกโพลงสว่างไสวดังไฟไหม้ป่า เพื่อบูชาบุคคลผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ผู้อนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง และยังให้ช่างทำหม้อทองคำ ๗๐๐,๐๐๐ ใบ บรรจุรัตนชาตินานาชนิดจนเต็ม และมีวัตถุที่ควรบูชาที่เป็นทองตั้งไว้ในท่ามกลางระหว่างหม้อทุกๆ ๘ ใบ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

เมื่อท่านทั้งสองได้ถึงกาลกิริยาได้ไปบังเกิด วนเวียนอยู่ในสวรรค์อยู่ช้านานจนหมดบุญ

ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้มาเกิดพราหมณ์ยากจนชื่อ ” จูเฬกสาฏก ” ได้นางพราหมณียากจนคนหนึ่งเป็นภรรยา จูเฬกสาฏกกับภรรยาต่างผลัดเปลี่ยนกับไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ภรรยาไปฟังธรรมตอนกลางวัน ส่วนเฬกสาฏกไปฟังธรรมตอนกลางคืน เหตุที่ทั้งสองสามีภรรยาไม่สามารถไปฟังธรรมพร้อมกันได้เพราะมีผ้าห่มออกข้างนอกเพียงผืนเดียว ซึ่งต้องผลัดกันใช้ คืนวันหนึ่ง ขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นั้น จูเฬกสาฏกเกิดศรัทธาจึงได้ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวของตนนั้นเป็นพุทธบูชา พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า ” ข้าพระองค์ชนะแล้ว “

ชัยชนะที่จูเฬกสาฏกหมายถึง คือ ชนะความตระหนี่ในใจของตนเองได้
หลังจากกลับไปเรือนและบอกให้ภรรยาอนุโมทนาในผลทานนั้น นางพราหมณีก็เกิดความปีติยินดีประนมมืออนุโมทนาสาธุการว่า

ข้าแต่นาย ผ้าห่มผืนนั้น ท่านได้ถวายดีแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้คงที่ และด้วยบุญนั้นที่ได้ทำไปด้วยความศรัทธา ขอให้ข้าพเจ้ามีส่วนในบุญนั้นด้วยเถิด บุญนั้นทำให้ทั้งสองมีความเจริญด้วยสุขสมบัติ

กล่าวคือพระเจ้าพันธุมราชกษัตริย์แห่งเมืองพันธุมดีทรงทราบความจริงจึงพระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้เขาพ้นจากความยากจน จูเฬกสาฏกกับภรรยาแม้จะมั่งมีขึ้นก็ไม่ได้ประมาท ทั้งสองได้บริจากทรัพย์ส่วนหนึ่งบำรุงพระพุทธศาสนาและบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

เมื่อถึงคราวตาย ทั้งสองสามีภรรยาได้บังเกิดเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้นนางพราหมณีได้เป็นมเหสีของพระราชา และเป็นที่โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยสร้างบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน

ครั้งนั้นพระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต ได้ถวายบิณฑบาตที่ปราณีตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเบิกบานพระทัย ทรงนิมนต์ให้อยู่เป็นเนื้อนาบุญ และรับสั่งให้พวกช่างสร้างมณฑปรัตนะที่สำเร็จด้วยทองสูง ถึง ๑๐๐ ศอก เมื่อสร้างเสร็จพระราชาทรงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดให้เข้าไปพักอาศัย ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองไม่เคยขาด แม้ครั้งนั้นพระมเหสีก็ได้ถวายทานร่วมกับพระราชา

เมื่อถึงคราวสวรรคตทั้งสองได้มาเกิดในแคว้นกาสี มีนามปรากฏว่า สุมิตตะ นางก็ได้เป็นภรรยานายสุมิตตะนั้นอีก เจริญด้วยสุขสมบัติร่วมกัน ทั้งยังเป็นที่รักของสามี ครั้งนั้นสามีได้ถวายผ้าโพกศีรษะเนื้อดีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้นางก็ได้มีส่วนแห่งทานได้อนุโมทนา

เมื่อมาบังเกิดในกำเนิดชาวโกลิยะในแคว้นกาสี ครั้งนั้นสามีพร้อมกับบุตรชาวโกลิยะ ๕๐๐ คน ได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส และได้ถวายไตรจีวร นางก็ได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลครั้งนั้นด้วย

ครั้นเมื่อตายลง สามีก็ได้เกิดเป็นพระราชาพระนามว่า นันทะ มีพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ แม้นางก็ได้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ เป็นผู้มั่งคั่งในสิริราชสมบัติ

พระเจ้านันทะเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็มาเป็นพระเจ้าพรหมทัต ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระนางกับพระเจ้าพรหมทัต ได้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นพระโอรสของพระนางปทุมวดี ให้อยู่ในพระราชอุทยานแล้วอุปัฏฐากบำรุง พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นจนตลอดชีวิต

ทั้งสองได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ บวชแล้วเจริญอัปปมัญญา ได้ไปสู่พรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลก ในที่สุดสามีได้มาเกิดเป็นปิปผลิมาณพมีทรัพย์สมบัติมากมาย และนางก็ได้มาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐีได้แต่งงานกัน แต่ก็ไม่ยินดีในการครองเรือนจึงออกบวชพร้อมกัน ในที่สุดเมื่อบารมีเต็มเปี่ยมก็ได้บรรลุพระอรหัตน์ทั้งสองท่าน และก็ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาตามที่ได้ตั้งจิตปรารถนาไว้ทุกประการ

เราท่านทั้งหลายจักเห็นว่า อดีตชาติของท่านพระมหากัสสปะและอดีตภรรยา ได้เวียนเกิด เวียนตายบำเพ็ญทาน ปฏิบัติศีล เจริญศรัทธาอยู่อย่างต่อเนื่อง เนืองนิจ แต่หาได้เจริญภาวนาปัญญาใดๆ ไม่

แต่พอคุณศีล คุณทาน คุณศรัทธา แก่กล้าจึงหันมาเจริญภาวนา คือ การพิจารณาความว่างเป็นอารมณ์ จนได้ไปเกิดเป็นพรหม แล้วจึงจุติลงมาเกิดเป็นปิปผลิ (พระมหากัสสปะเถระ)

เหตุที่ท่านได้รับพระราชทานผ้าไตรของพระบรมศาสดา ก็เพราะในอดีตชาติท่านชอบถวายผ้าแก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกมาทุกภพทุกชาติ

เหตุที่ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้มีธรรมอันเสมอพระพุทธองค์ ก็เพราะนิยมชมชอบที่จักสดับฟังธรรมมาแล้วในอดีตจนนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งก็ผ่านพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง ๒ พระองค์

สรุปว่า ทุกสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ ล้วนเกิดมาจากเหตุทั้งสิ้น หากทำเหตุเอาไว้ดี สะสมเหตุแห่งความดีเอาไว้มากพอ ผลก็จักออกมาดีต่อเนื่องยาวนาน

และหากจะต้องการดับผลทั้งดีและเลว ก็ต้องดับที่เหตุ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–