เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอานนท์ (ตอนที่ 8)

0
68

เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๘)
๒๗ กันยายน ๒๕๖๕

ในตอนที่พระอานนท์ไม่ได้ทูลอาราธนาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า มิให้ปลงมายุสังขาร (คือ กำหนดวันปรินิพพาน) ทั้งที่ทรงแสดงนิมิตตั้งหลายครั้ง พอถึงครั้งสุดท้ายจึงทรงตรัสข้อธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติสมบูรณ์แล้ว สามารถยืดอายุขัยไปได้ถึง ๑ กัป แล้วกัปหนึ่งมันนานขนาดไหน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายกัปหนึ่งนั้นนานนัก มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปีฯลฯ หรือว่าเท่านั้นปี

ภิกษุสอบถามว่า พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาจอุปมาได้ภิกษุ แล้วจึงตรัสว่า

ดูกรภิกษุเปรียบดัง นครที่ทำด้วยเหล็กยาว ๑ โยชน์ กว้างโยชน์ ๑ โยชน์ สูงโยชน์ ๑ โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ร้อยปีบุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นออกมาเมล็ดหนึ่ง แล้วนำออกจากนครนั้นโดยล่วงเวลาไปอีกหนึ่งร้อยปีจนกว่าเมล็ดเมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นจะหมดไปจากนครเหล็กนั้น แต่ก็ยังไม่ถึง ๑ กัปอยู่ดี

เวลา ๑ กัปจึงนานอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้แล่นท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่แต่หนึ่งกัป มิใช่แต่ร้อยกัป มิใช่แต่พันกัป มิใช่แต่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เหตุเพราะว่าวัฏฏะสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้และไม่รู้ว่าจะหลุดพ้นในเวลาใด

หากยังมัวเมาประมาท แม้สรรพสัตว์ทุกตนจักสามารถหลุดพ้นได้เหมือนๆ กันก็ตามทีในช่วงเวลานั้นหากสัตว์ตนใดมุ่งมั่น หมั่นปฏิบัติบำเพ็ญอยู่อย่างต่อเนือง ไม่ขาดไม่พร่อง

ในข้อธรรมนั้นคือ อิทธิบาท ๔

อธิบาย ธรรมที่ชื่อว่า อิทธิบาท ๔ ได้แก่

ฉันทะ ความพึงพอใจ รักในกิจกรรมการงานที่ตนกระทำ

วิริยะ ความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร พยายามทำงานนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ยาวนาน ตั้งมั่น

จิตตะ การมีใจอันประกอบด้วยสติทำการงานนั้นๆ ทุกอย่างด้วยความจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ

วิมังสา การใช้ปัญญา ใคร่ครวญ พินิจพิจารณาทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกสูตรที่คิดอย่างละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน

เมื่อกระบวนการดำเนินชีวิต กระบวนการทำการงานแต่ละวันที่ต้องทำด้วยความรัก ความพึงพอใจ มั่งมั่น ขยันหมั่นเพียร

มีใจจดจ่อ จริงจัง ตั้งใจ ทั้งยังต้องใช้สติปัญญาทบทวน ใคร่ครวญ พินิจพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน

โดยมีหลักอยู่ว่า เมื่อมีชีวิต มีพลัง ใช้พลังสร้างสรรค์การงานและงานนั้นมีทั้งงานภายนอกและงานภายใน

งานภายนอก คือการหาอยู่หากิน นั้นมีหลักอยู่ว่า ขยันหา รู้จักรักษา คบคนดี เลี้ยงชีวิตพอประมาณ

อธิบาย

คำว่า ขยันหา เริ่มต้นจากการขยันหาวิชาความรู้ ขยันหาทรัพย์สิน ขยันหาลาภ ยศ สรรเสริญ

คำว่ารู้จักรักษา รักษาสิ่งที่หาได้มาและมีอยู่เดิมให้เจริญ รุ่งเรือง มั่นคง ยั่งยืน

คำว่าคบคนดี หมายถึง ผู้คนที่อยู่แวดล้อมต้องมีคุณธรรมน้ำใจ มีศีลมีธรรมอันซื่อตรง และหากจะคบค้าสมาคมใครมาเป็นเพื่อน ต้องรู้จักอุปนิสัยใจคอเขาว่า ดีหรือร้ายอย่างไร “อย่าคบคนที่หน้าตา แต่จงคบคนที่จิตใจ”

คำว่าเลี้ยงชีวิตพอประมาณ หมายถึง ทรัพย์สิน สิ่งของที่สู้อุตส่าห์ลงทุน ลงแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ทนยากลำบากสรรหามาก็ต้องใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าอย่าสุรุ่ยสุร่าย นอกจากจะใช้จ่ายเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงบิดามารดา สงเคราะห์ญาติ และบริวาร บริจาคให้สมณะชีพราหมณ์ จ่ายภาษี และบริจาคสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก แล้วรู้จักเก็บออมเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นด้วย

การงานภายนอกทั้งหมดนี้ต้องกระทำด้วยความพึงพอใจ ขยันหมั่นเพียร เอาใจจดจ่อด้วยสติปัญญาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

เรียกว่ามีชีวิตทำการงานด้วยหลักคิด หลักทำ ที่เกิดจากพลังขับเคลื่อนของหลักอิทธิบาท ๔ ให้ได้ตลอดชีวิต

เมื่องานภายนอกได้ลงไม้ลงมือทำด้วยหลักอิทธิบาท ๔ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

การงานภายในยิ่งต้องอาศัยหลักอิทธิบาท ๔ โดยหลีกเลี่ยงมิได้

งานภายในนั้นมีหลักคิด หลักทำได้แก่ การละ วาง ว่าง สงบ ดับ เย็น

อธิบาย

คำว่า การละ ละสิ่งที่เป็นข้าศึกของกุศลทั้งปวง

คำว่า การวาง วางภาระกรรมทั้งปวงทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

คำว่า ว่าง ว่างจากขบวนการปรุงแต่งในสังขารทั้งปวง ว่างจากเครื่องร้อยรัดทั้งทางกายและจิตใจ

คำว่า สงบ สงบกาย สงบวาจา สงบใจ

คำว่า ดับ หมายถึง ดับเหตุปัจจัยทั้งฝ่ายกุศล และอกุศลทั้งปวง

คำว่า เย็น หมายถึง ความเย็นกาย เย็นใจ

เมื่อมีชีวิต มีพลังที่เกิดจากการผลักดันของคุณธรรมอิทธิบาททั้ง ๔ อยู่ทุกลมหายใจเช่นนี้

ไม่ว่าจะต้องการปรารถนาสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมสำเร็จได้โดยง่าย สมดังอานิสงส์หรือคุณสมบัติของอิทธิบาท ๔ เป็นเครื่องยังให้สำเร็จประโยชน์ทั้งปวง

พุทธะอิสระ

——————————————–