เรื่องนี้ต้องขยาย : พระเทวทัต (ตอนที่ 3)

0
68

เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๓)
๑๘ กันยายน ๒๕๖๕

เมื่อพระเทวทัตสมรู้ร่วมคิดกับอชาตศัตรูราชาส่งนักฆ่า ๓๑ คน ไปฆ่าพระบรมศาสดาแต่ไม่สำเร็จ จนนักฆ่ามารายงานพระเทวทัตว่า

พวกตนไม่สามารถฆ่าพระบรมศาสดาได้สำเร็จ ด้วยองค์พระบรมศาสดาทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

พระเทวทัตจึงกล่าวแก่นักฆ่านั้นว่า เมื่อพวกเจ้าไม่สามารถปลงพระชนม์พระสมณโคดมได้สำเร็จ เรานี่แหละจักเป็นผู้ปลงพระชนม์พระสมณโคดมเอง

เวลาต่อมา องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จเดินจงกรมอยู่ ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ ขณะที่พระเทวทัตแอบขึ้นไปซุ่มอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ เพื่อหาโอกาสที่จะกลิ้งหินก้อนใหญ่ลงมาทับพระผู้มีพระภาคเจ้าในขณะที่ทรงเสด็จเดินเดินจงกรม

ในเวลานั้นเทพยดาจึงได้บันดาลให้ยอดเขาคิชฌกูฏเอียงตัวไปเสียอีกทิศหนึ่ง เพื่อไม่ให้หินก้อนใหญ่นั้นกลิ้งหล่นลงไปทับพระบรมศาสดา

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเศษหินที่แตกกระเด็นตกลงมาถูกข้อพระบาทขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้ห้อพระโลหิต

พระผู้มีพระภาคทรงแหงนขึ้นไปทอดพระเนตรพระเทวทัต พร้อมทั้งได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า

ดูกรโมฆบุรุษ ทำไมเธอจึงขยันสั่งสมบาปไว้มากมายเห็นปานนี้ ทำไมถึงไม่สร้างบุญไว้ให้มากเล่า เพราะเหตุใดจึงมีจิตคิดประทุษร้ายมีจิตคิดฆ่าจนยังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้นได้
ในเวลาต่อมาพระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑ ที่เทวทัตสั่งสมแล้วเพราะเธอมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่าทำโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น

ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า พระเทวทัตได้พยายามปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นจึงรวมตัวกันเป็นยามคอยเฝ้า เข้าเวรผลัดกันเดินจงกรมอยู่รอบๆ วิหารของพระผู้มีพระภาค บ้างก็ทำการสาธยายธรรมมีเสียงสูง เสียงดัง เพื่อรักษาคุ้มครองป้องกันพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงสาธยาย อันมีเสียงเซ็งแซ่แล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ นั่นเสียงสาธยายเสียงเซ็งแซ่อะไรกัน

ท่านอานนท์ทูลตอบว่า

พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า พระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มาจงกรมอยู่รอบรอบวิหารของพระผู้มีพระภาคและทำการสาธยายธรรมจึงมีเสียงเซ็งแซ่ เพื่อรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้นเธอจงเรียกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมา

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชา แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น แจ้งให้ทราบว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่นนั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสเพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพาน ด้วยความพยายามของผู้อื่น (ไม่มีใครทำอันตรายพระองค์จนทำให้เสียชีวิตได้)

แล้วจึงทรงตรัสสั่งให้หมู่ภิกษุเหล่านั้นต่างแยกย้ายกันไปพักผ่อน

ในเวลาต่อมา ในกรุงราชคฤห์ มีช้างเชือกหนึ่งมีชื่อว่า นาฬาคิรี เป็นช้างดุร้ายชอบทำร้าย ชอบฆ่ามนุษย์

ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์แล้วไปยังโรงช้าง ได้กล่าวกะพวกควาญช้างว่า พนายเราเป็นพระญาติของราชาอชาตศัตรู สามารถจะแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งต่ำ ให้ขึ้นในตำแหน่งสูงได้ สามารถจะเพิ่มได้ทั้งเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน ตั้งแต่นี้ไปท่านจงเชื่อฟังเรา

พนายแต่นี้เป็นต้นไปเวลาใด พระสมณโคดมทรงพระดำเนินมาตามตรอกนี้ เวลานั้นพวกท่านจงเอาสุรา ๘ ไห กรอกปากให้ช้างนาฬาคิรีนี้ได้ดื่มกิน แล้วจงปล่อยช้างนาฬาคิรีเข้าไปยังตรอกนี้ ควาญช้างเหล่านั้นรับคำพระเทวทัตแล้วรอเวลา

ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตร จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมกับภิกษุมากรูป ทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น ควาญช้างเหล่านั้นได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น จึงช่วยกันนำเหล้า ๘ ไหให้ช้างดื่มกัน แล้วจึงปล่อยช้างนาฬาคิรีที่กำลังเมาตกมันให้ไปยังตรอกนั้น

ช้างนาฬาคิรีได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค ทรงพระดำเนินมาแต่ไกล จึงได้ชูงวง หูชันหางชี้ พร้อมส่งเสียงร้องดังโกญจนาทก้องกึก วิ่งรี่ไปทางพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นได้แลเห็นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาแต่ไกล แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีนี้ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์ กำลังวิ่งตรงเข้ามายังตรอกนี้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จกลับเถิด ขอพระสุคตจงเสด็จกลับเถิดพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลายเธออย่ากลัวเลย ข้อที่ บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่นนั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น

แม้ครั้งที่สอง ภิกษุเหล่านั้น …ก็กล่าวทัดทานพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดิม

จนถึงคำรบที่สาม พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จึงได้รีบเดินออกจากแถวมานำหน้าพระบรมศาสดา ด้วยหวังใจว่า หากช้างดุร้ายนี้จะเข้ามาทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า จักต้องข้ามศพท่านไปก่อน

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกรอานนท์ จงอย่าทำเช่นนั้นเลย บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใคร แม้สัตว์เดรัจฉานหรือมนุษย์ เทวดา มาร พรหมก็ไม่สามรถทำร้ายเราได้

พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย อย่ากลัวเลย ข้อที่บุคคล จะปลงชีวิต ตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะ พระตถาคต ทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ฯ

คราวนั้น คนทั้งหลาย หนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนเรือน โล้นเขาที่สูงบ้าง บนหลังคาบ้าง บรรดาคนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา ได้กล่าวอย่างนี้ว่า

ชาวเราผู้เจริญ พระมหาสมณโคดมพระรูปงามจักถูกช้างเบียดเบียน เหยียบจนร่างกายแหกเหลวแน่

ส่วนพวกที่มีศรัทธาเลื่อมใสฉลาด มีปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า ชาวเราผู้เจริญ ไม่นานเท่าไรนัก พระพุทธโลกนาถจักทรงทำสงครามกับช้าง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี

ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีได้สัมผัสพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลดงวงลงเข้าไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พร้อมทั้งคุกเขาหมอบพระผู้มีพระภาคเจ้า

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสด้วยพระคาถา ว่าดังนี้:

ดูกร กุญชรเจ้าอย่าเข้ามาหาพระพุทธโลกนาถ ด้วยอารมณ์กิริยาอันโกรธเกรี้ยว เพราะการเข้าไปหาพระพุทธโลกนาถ ด้วยจิตที่คิดฆ่า คิดทำร้ายเป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ฆ่าพระพุทธโลกนาถจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า ไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าเมา และอย่าประมาท เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้ประมาทแล้วจะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้านี่แหละจักทำเหตุแห่งการไปสู่สุคติได้ ฯ

ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระผู้มี พระภาคเจ้า แล้วพ่นลงบนกระหม่อมย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาค เดินกลับไปสู่โรงช้างแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ของตน

ก็แล ช้างนาฬาคิรีเป็นสัตว์อันพระพุทธโลกนาถทรงทรมานแล้ว ด้วยประการฉะนี้

สมัยนั้น คนทั้งหลายขับร้องคาถานี้ว่า คนพวกหนึ่งย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้างใช้แส้บ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวงพระคุณอันใหญ่ ทรงทรมานช้างโดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้ศัสตรา คนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าพระเทวทัตนี้เป็นคนมีบาป ไม่มีบุญ เพราะพยายามปลงพระชนม์พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

ดังนี้แล้ว ผู้คนต่างพากันรังเกียจ ทำให้ลาภสักการะของพระเทวทัตเสื่อม ส่วนลาภสักการะของพระผู้มีพระภาคเจริญยิ่งขึ้น ฯ

พุทธะอิสระ

——————————————–