เรื่องนี้ต้องขยาย (พระสารีบุตร ตอนที่ ๓)
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
หลังจากอุปติสสะและโกลิตะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ โดยมีใจความว่า
“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับเหตุแห่งธรรมนั้น”
จนอุปติสสะได้บรรลุพระโสดาบัน จึงนำธรรมนั้นไปแสดงแก่สหายโกลิตะจนบรรลุพระโสดาบัน
ทั้งสองจึงคิดถึงสัญชัยปริพาชกผู้เคยเป็นอาจารย์ เพื่อชักชวนให้มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสดับพระธรรม แต่ด้วยอัสมิมานะของสัญชัย จึงได้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลแก่อุปติสสะและโกลิตะว่า
“ในโลกนี้มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด เช่นนั้นสมณโคดมจงเป็นศาสดาของคนฉลาด ส่วนตนจะเป็นศาสดาของพวกคนโง่”
อุปติสสะและโกลิตะจึงพาบริวาร ๒๕๐ คน ไปเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดาเพื่อฟังธรรม บริวารทั้ง ๒๕๐ คน ของอุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหันต์ แต่อุปติสสะและโกลิตะยังมิได้บรรลุอรหันต์
องค์พระบรมศาสดาจึงทรงให้การบวชแก่อุปติสสะและโกลิตะ พร้อมบริวารด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
โดยอุปติสะได้นามว่า สารีบุตร แปลว่า ภิกษุผู้เป็นบุตรของนางสารี
ส่วนโกลิตะ ได้นามว่า โมคคัลลานะ หมายถึง ภิกษุผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลี
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือทำไม พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะถึงยังไม่บรรลุพระอรหันต์
อธิบายว่า ก็ด้วยเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีสติปัญญามากจนเวลาสดับฟังธรรมจากพระโอษฐ์ขององค์พระบรมศาสดา จึงมัวแต่ตั้งข้อสงสัย วิพากษ์วิจารณ์กับพระธรรมที่องค์พระบรมศาสดาแสดง
จิตจึงไม่ปลงใจเชื่อ ปัญญาเห็นแจ้งจึงยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนพระโมคคัลลานะนั้น เป็นผู้มีอุปนิสัยเดิมที่ชื่นชอบฤทธิ์เดช พระธรรมที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในขณะนั้นล้วนเป็นอภิปรัชญา อภิปัญญา หาได้ตรงกับจริตของพระโมคคัลลานะที่ต้องการฤทธิ์เดช ซึ่งตนชื่นชอบที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตในด้านสมถะ สมาธิ สมาบัติ
ถามว่า พระบรมศาสดาทรงไม่ทราบถึงอุปนิสัย จริตของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะหรือ
อธิบายว่า ทรงทราบ แต่ก็ต้องการทรมาน ขับเคี่ยว คาดคั้นภิกษุทั้งสองให้แข็งแกร่งจนมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมาเป็นอัครสาวกซ้ายขวา
วันคืนล่วงไปเดือนเศษ ขณะที่ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ ในเวลานั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพิจารณาด้วยพระญาณจึงเห็นว่า วันนี้เป็นเวลาอันเหมาะที่จักไปโปรดพระสารีบุตร ด้วยเพราะเธอมีอินทรีย์อันแก่กล้า พร้อมที่จะบรรลุอรหันต์
ซึ่งขณะนั้นทีฆนขอัคคิเวสนโคตรผู้เป็นลุงของพระสารีบุตร ได้มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ณ ถ้ำสุกรขาตานั้นด้วย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ คำว่า อินทรีย์อันแก่กล้า หมายถึงอะไร
อธิบายคำว่า อินทรีย์ แปลว่าความเป็นใหญ่มีอยู่ด้วยกันสองจำพวก อันได้แก่
ตาเป็นใหญ่ ในการเห็นรูป
หูเป็นใหญ่ ในการฟังเสียง
จมูกเป็นใหญ่ ในการดมกลิ่น
ลิ้นเป็นใหญ่ ในการรับรส
กายเป็นใหญ่ ในการสัมผัส
ใจเป็นใหญ่ ในการรับรู้อารมณ์
รวมเรียกว่า อินทรีย์ ๖
แต่อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้จักทำหน้าที่อย่างถูกตรงเป็นใหญ่ได้ ต้องอาศัยอินทรีย์ ๕ คอยกำกับ ควบคุมอันได้แก่
ศรัทธา ความเชื่อ ความยอมรับ
วิริยะ ความเพียรอันต่อเนื่อง
สติ ความระลึกรู้ ระลึกได้ทั้งพร้อมอยู่เสมอ
สมาธิ การทำการงานได้อย่างตั้งมั่น ยั่งยืน และการมีจิตตั้งมั่น เที่ยงตรง
ปัญญา ความใคร่ครวญ พินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ รู้ชัด
เมื่อพระสารีบุตรมีอินทรีย์ที่แก่กล้า เหมาะสมที่จะบรรลุธรรม
โปรดติดตามตอนต่อไป
พุทธะอิสระ
——————————————–