ประวัติพญานาคในความคิด ความเชื่อของพุทธศาสนา 3ส.ค.2565

0
79

ประวัติพญานาคในความคิด ความเชื่อของพุทธศาสนา
๓ สิงหาคม ๒๕๖๕

วันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๙ ที่จะถึงนี้เป็นวันที่มูลนิธิธรรมอิสระแห่งวัดอ้อน้อยและลูกหลานชาวธรรมอิสระ จะจัดพิธีบวงสรวงพญานาคทั้ง ๔ ตระกูลและพญามุจลินท์ ที่ขึ้นมาแผ่พังพานปกป้องพระบรมศาสดาให้พ้นจากแรงลมฝน และพายุร้ายในคราวที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ มูลนิธิธรรมอิสระและวัดอ้อน้อย จึงได้จักสร้างพระมหาพุทธพิมพ์นาคปรก พระมหาพุทธพิมพ์จัดการหล่อติดตั้งเรียบร้อย เพื่อวางรากฐานมหานาคที่สูงจากฐานจรดหงอนนาค ๑๑๐ เมตรในเวลา ๐๙.๐๙ น.

จึงขอนำคติความเชื่อเรื่องนาคของพระพุทธศาสนามาเล่าสู่กันฟัง

คติความเชื่อในพุทธศาสนา พญานาคเป็นสัตว์กึ่งเทพมีทั้งหมดอยู่ ๔ ตระกูล ซึ่งจะแตกต่างจากคติความเชื่อของศาสนาฮินดูพราหมณ์ ที่เชื่อว่าพญานาคมีทั้งหมดอยู่ ๖ ตระกูล

วันนี้เราท่านทั้งหลายมาทำความรู้จักกับพญานาคตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาทั้ง ๔ ตระกูลกันก่อน วันหน้าหากมีเวลาจะนำเอาประวัติพญานาคทั้ง ๖ ตระกูลตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดู มาเล่าสู่กันฟังสืบไป

ประวัติโดยย่อพญานาคทั้ง ๔ ตระกูลมีดังนี้

วิรูปักเขหิ เม เมตตัง
-ข้าพเจ้าขอตั้งความเมตตาจิต กับพญางูตระกูลวิรูปักขะทั้งหลาย
เมตตัง เอราปะเถหิ เม
-ข้าพเจ้าขอตั้งความเมตตาจิต กับพญางูตระกูลเอราปถะทั้งหลาย
ฉัพยาปุตเตหิ เม เมตตัง
-ข้าพเจ้าขอตั้งความเมตตาจิต กับพญางูตระกูลฉัพยาปุตตะทั้งหลาย
เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ
-ข้าพเจ้าขอตั้งความเมตตาจิต กับพญางูตระกูลกัณหาโคตมกะทั้งหลาย
อะปาทะเกหิ เม เมตตัง
-ข้าพเจ้าขอตั้งความเมตตาจิต กับสัตว์ไม่มีเท้าทั้งหลาย

อธิบายความ

นาคตระกูลวิรูปักษ์มีชาติกำเนิดขึ้นเองด้วยบุญฤทธิ์ของตน สถิตอยู่ในทิพย์วิมานตามกำลังแห่งบุญฤทธิ์ที่ตนสั่งสมบ่มเพาะมา ส่วนจะเลิศหรูอลังการขนาดใดขึ้นอยู่กับผลบุญที่ได้สั่งสมมามากน้อยแตกต่างกันไป

พญานาคตระกูลวิรูปักษ์ เมื่อกำเนิดมาจากบุญฤทธิ์จึงโตขึ้นเองเลย ด้วยผลบุญที่หล่อเลี้ยง ไม่ต้องผ่านวัยเด็ก ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บป่วย แต่เมื่อใดที่ผลบุญฤทธิ์นั้นหมดไปก็ถึงเวลาตาย แล้วไปเกิดตามผลกรรมที่ทำมา

พญานาคตระกูลวิรูปักษ์ นี้จะเป็นราชาแห่งนาคทั้งปวง ส่วนนาคตนใดที่จะขึ้นแท่นเป็นราชาผู้ปกครอง นั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญฤทธิ์ที่สั่งสมบ่มเพาะมาเช่นกัน

ผู้ใดมีบุญฤทธิ์มากกว่าก็จะได้เป็นราชาแห่งนาคทั้งปวงโดยมิต้องคัดเลือก

รูปพรรณสัณฐาน นาคตระกูลนี้ส่วนใหญ่มักจะมีผิวกายและเกล็ดเป็นทอง ตั้งแต่หัวจรดปลายหางคือเท้า

ปกติชีวิตประจำวันของนาคตระกูลนี้ มักแปลงกายเป็นรูปมนุษย์อยู่เนืองนิจด้วยเพราะ มีจิตจดจำ คุ้นเคยกับร่างมนุษย์มาก เพราะอาศัยสร้างบุญฤทธิ์

อีกทั้งคราใดเมื่อพญานาคตระกูลนี้นอน จะใช้เวลานอนยาวนานครั้งละเป็นปี แถมยังมีลมหายใจพ่นออกมาเป็นไอน้ำและเมฆหมอก

นาคตระกูลวิรูปักษ์ นี้ยังมีหน้าที่ให้น้ำแก่โลก และจักรวาลโดยมีพญาอนันตนาคราชเป็นราชาปกครอง

อีกทั้ง นาคในตระกูลนี้ ยังได้รับหน้าที่เฝ้าประตูสวรรค์ในทิศทักษิณอีกด้วยอันมีนามว่า ท้าววิรูปัก

นาคตระกูลเอราปถะ เกิดมาจากไข่หรืออัณฑชะ โดยนาคนางผู้เป็นมารดาจะสำรอกไข่สีเขียวหยกออกมาจากปาก โดยนางใช้เวลาฟูมฟักไข่อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน และ ๗ วัน

เมื่อลูกนาคฟักตัวออกมาจากไข่ ก็จะมีร่างกายเป็นงู ผิวกายสีเขียวหยก แต่มีหงอน ดวงตาสีแดงแกลมเขียวอยู่ในวัยเด็ก

มีถิ่นที่อยู่อาศัยในถ้ำทองหรือวิมาน ซึ่งก็เกิดขึ้นจากบุญฤทธิ์ของตนในเมืองบาดาล

มีบุญฤทธิ์ใกล้เคียงนาคตระกูลวิรูปักษ์

อีกทั้งนาคตระกูลนี้มักจำแลง แปลงกายมาเที่ยวอยู่กับเมืองมนุษย์อยู่เป็นอาจิน ทั้งหญิงและชาย บางโอกาสก็เข้ามาร่วมกิจกรรมกับหมู่มนุษย์อยู่บ่อยๆ โดยที่มนุษย์หาได้รู้ตัวไม่

นาคตระกูลเอราปถะนี้ไม่มีหน้าที่โดยตรงต่อโลกและมนุษย์ ส่วนใหญ่มักจะชอบรื่นเริง ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ มีอุปนิสัยถือสัจจะเท่าชีวิต ราชาแห่งนาคตระกูลนี้มีนามว่า พญากาฬนาคราช (พญากาฬภุชคินทร์)

นาคตระกูลฉัพพยาปุตตะ เกิดจากครรภ์ของนางนาคผู้เป็นมารดาเหมือนมนุษย์ ต่างกันตรงที่อยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ออกมาเป็นงูมีหงอน มีผิวกายและเกล็ดเป็นสีเลื่อมพลายคล้ายสีรุ้งทั้ง ๗ สวยงามมาก มีบุญฤทธิ์มากถึงขนาดใครผู้ใดได้เห็นสีกายของนาค จะต้องตาบอดไปชั่วขณะหนึ่ง เมื่อหายแล้วก็จะเป็นผู้มีตาบอดสีไปเลยทีเดียว

คงเป็นเพราะเช่นนี้หละกระมัง นาคตระกูลนี้จึงมีชีวิตและสถานที่อยู่อาศัยลึกลับ เหมือนกับอยู่คนละมิติกับมนุษย์ เช่น ในสระน้ำใหญ่ของป่าหิมพานต์เท่านั้น

ด้วยเพราะมีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์ที่อุดมไปด้วยมหาพิสดารสารพัดสุดจะบรรยาย ทั้งสัตว์และต้นไม้ นาคตระกูลนี้จึงกลายเป็นหมอยาเทพไปโดยปริยาย

เราท่านทั้งหลายจึงจะเห็นรูปปั้นหัวพญานาคที่ทำหน้าที่เป็นครูหมอว่านยาและเวทมนต์ ราชาของนาคตระกูลนี้คือ พญาภุชงค์นาคราช

น้องตระกูลสุดท้าย น้องสุดท้อง คือ กัณหาโคตะมะ เกิดจากเหงื่อของนาคเอง แต่นาคตระกูลนี้มีกายเย็นดุจน้ำแข็ง จึงเป็นเรื่องยากที่นาคตระกูลนี้จะมีเหงื่อ

เช่นนี้หากนาคตระกูลนี้ต้องการมีลูก จึงต้องเข้าร่วมกอดรัดกันจนร่างกายเกิดความร้อน แล้วเป็นเหงื่อหยดลงบนพื้นที่มีหญ้า แล้วลูกงูหงอนร่างกายกำยำแข็งแรงสีดำนิล ก็เกิดขึ้น

นาคตระกูลนี้มีปกติถือสันโดษ ไม่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่จะนิยมชมชอบสะสมแก้วแหวน เงินทอง และนั่งเฝ้าชื่นชมทรัพย์นั้น

จึงมีคำกล่าวว่า ผู้ใดมีวาสนาได้สมบัติของนาค ก็เท่ากับได้พระคลังมหาสมบัติของจอมจักรพรรดิทั้ง ๔ มหาสมุทรทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่นาคตระกูลนี้ชอบทำ คือ การบำเพ็ญพรต หมั่นเพียรภาวนาอยู่เนืองๆ ด้วยเพราะเชื่อว่าจะเป็นหนทางให้ตนหลุดพ้นจากอัตภาพของความเป็นนาคจะได้ไปเกิดในที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

ถิ่นที่อยู่ของนาคตระกูลนี้ คือ ลำน้ำลึกซึ่งจะขุดเป็นโพรง เป็นคูหา เป็นถ้ำอันกว้างใหญ่ เพื่อเอาไว้อยู่อาศัยและเก็บมหาสมบัติ ราชาแห่งนาคตระกูลกัณหาโคตะมะนี้มีนามว่า พญามุจลินท์นาคราช

พญานาคนี้แหละที่ขึ้นมาแผ่พังพานป้องกันลมฝน พายุร้ายที่ซัดสาดใส่พระบรมศาสดาขณะที่ทรงตรัสรู้ใหม่

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/456418623017079/