ถามมา ตอบไป (ตอนที่ ๒)
๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
พระบรมศาสดาทรงแนะวิธีปฏิบัติตนต่อผู้ต้องคดี(อธิกรณ์) ไว้ดังต่อไปนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน หมั่นศึกษาอยู่ และรู้ว่าภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องอาบัติ มีโทษอยู่ พวกเธออย่าเพ่งโจทภิกษุรูปนั้นด้วยข้อโจท
พึงใคร่ครวญบุคคลผู้ต้องอาบัติและผู้เป็นโจทก์ให้รอบคอบ ถี่ถ้วนดูก่อนแล้วพิจารณาดังนี้ว่า ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา แต่ความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น แต่ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ก็เรื่องความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้ เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา แต่ความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ยาก และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ก็เรื่องความลำบากของเรา เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ยาก แต่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ก็เรื่องความลำบากของเราและความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ก็ควรพูด
แต่ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น สละคืนได้ยาก ทั้งเราก็ไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ พวกเธอก็ต้องไม่ละเลยอุเบกขาในบุคคลเช่นนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน หมั่นศึกษาอยู่ พึงเกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน ไม่ยินดีต่อกันขึ้น
พวกเธอพึงสำคัญภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกันในที่นั้นรูปใดว่า ว่าง่าย พึงเข้าไปหารูปนั้น แล้วกล่าวแก่เธออย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เรื่องที่พวกเราพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน หมั่นศึกษาอยู่ เกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน ไม่ยินดีต่อกันขึ้นนั้น พระสมณะเมื่อทรงทราบจะพึงทรงติเตียน
ดูกรท่านผู้มีอายุ ภิกษุไม่ละภาวะขัดแย้งแข่งดีที่ดำรงอยู่นี้แล้วแล จะพึงทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอื่น ๆ พึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านให้ภิกษุเหล่านี้ของพวกเราออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลแล้วหรือ ภิกษุเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว ได้กล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้แล้ว
ภิกษุเมื่อพยากรณ์อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ยกตน ไม่ข่มคนอื่น พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิด้วย
**************************************************
สรุปรวมความว่า เมื่อรู้อยู่ว่ามีภิกษุใดต้องอาบัติก็ให้พิจารณาดูพฤติกรรม ลักษณะนิสัยใจคอ ว่าเป็นบุคคลที่พร้อมจะยอมรับความจริงหรือไม่
และยังมีความละอายชั่ว กลัวบาป พร้อมที่จะสละมานะทิฏฐิ ความถือตัวถือตนพร้อมทั้งพิจารณาถึงพฤติกรรมลักษณะนิสัยจิตใจของผู้โจทก์ว่าเป็นคนผู้มีเรื่องราวกับผู้โจทก์มาก่อนหรือเปล่า ทั้งยังเป็นบุคคลน่าเชื่อถือได้หรือไม่
และต้องโจทก์ด้วยจิตที่หวัดดีเอ็นดู ปรารถนาให้ผู้ถูกโจทก์มีจิตสำนึกละอายชั่ว กลัวบาป เพื่อให้ผู้ถูกโจทก์ได้เข้าสู่มหากุศลอันยิ่ง
เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นการรักษาพระธรรมวินัย และสังฆมณฑลให้สงบเรียบร้อย
พุทธะอิสระ
——————————————–