ถามมา ตอบไป (ตอนที่ ๓)
๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
กรณีการประพฤติละเมิดพระธรรมวินัย ดังที่เป็นข่าวดังๆ หรือไม่ได้เป็นข่าว ควรจะเป็นหน้าที่ของใครที่จะจัดการ
***********************************************************
มูลเหตุการณ์วิวาท (สามคามสูตร)
ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาทนี้มี ๖ อย่าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ
๒. ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ
๓. ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่
๔. ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา
๕. ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด
๖. ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความดื้อรั้น สละคืนได้ยาก (ว่ายากสอนยาก)
ภิกษุเหล่านี้ ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาท มีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ดูกรอานนท์ ถ้าพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภายนอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียในที่นั้น และปฏิบัติเพื่อไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นลุกลามไป
***********************************************************
สรุปสุดท้าย พระบรมศาสดาทรงกำชับให้พระภิกษุสงฆ์เข้าระงับเรื่องราวหรือเรียกว่า อธิกรณ์ ด้วยหมู่ของพระภิกษุสงฆ์เอง
เว้นเสียแต่ว่าหมู่ภิกษุผู้ร่วมสังวาสหรืออยู่ในวัดเดียวกันเพิกเฉย ไม่ใยดี เช่นนี้เรียกว่า ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย (พระบรมศาสดาทรงปรับอาบัติไว้)
เมื่อสงฆ์อาวาสอื่นหรือฆราวาสผู้เข้าถึงธรรม รู้เข้าก็สามารถนำเรื่องเสียหายที่ภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์กระทำขึ้นสู่การพิจารณาในท่ามกลางหมู่สงฆ์ด้วยจิตที่หวังดีและเอ็นดู ปรารถนาให้ภิกษุนั้นหลุดพ้นจากอกุศลที่กระทำอยู่
ทั้งยังเป็นการรักษาศรัทธา ความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ในหลักธรรมวินัยและหมู่สงฆ์เอาไว้ด้วย
รวมความว่า หากภิกษุในอาวาสเดียวกันไม่กระทำการใดๆ กับความผิดพลาดที่ภิกษุนั้นกระทำขึ้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ ที่จะขจัดปัดเป่าปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป ด้วยวิธีระงับอธิกรณ์ที่พระบรมศาสดาทรงวางไว้
วันนี้ขอตอบแค่นี้ก่อน วันหน้าจะนำเรื่องราวและวิธีระงับอธิกรณ์มาเล่าสู่กันฟัง
พุทธะอิสระ
——————————————–