ขออนุญาตแชร์นะจ๊ะ

0
17
ขออนุญาตแชร์นะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
๘ กันยายน ๒๕๖๔
**************************************************************
นักวิชาการชี้ พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง ไลฟ์สนทนาธรรม เป็นพฤติกรรมที่หย่อนยานในพระธรรมวินัย
เผยแพร่: 7 ก.ย. 2564 00:20 ปรับปรุง: 7 ก.ย. 2564 00:20 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ดร.มงคล นาฏกระสูตร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และอดีตผู้ชำนาญการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง ไลฟ์สนทนาธรรม ชี้ เป็นความเสื่อมของศาสนาและเป็นพฤติกรรมที่หย่อนยานในพระธรรมวินัย
จากกรณี “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” พระประจำวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร ได้ไลฟ์สนทนาธรรมกับ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดัง โดยมียอดคนดูพร้อมกัน 2 แสนกว่า ซึ่งไลฟ์ดังกล่าวได้สนทนาธรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ “ดังนั้น จะมาเป็น พส.เหมือนกันไม่ได้ ไม่ใครก็ใครจะต้องสู่ขิต” โดยคำว่า พส.นั้นเป็นคำติดปากของวัยรุ่นที่หมายถึง “พี่สาว” หรือ “เพื่อนสาว” แต่ในกรณีนี้จะหมายถึง “พระสงฆ์” นอกจากนี้ Official Page ของแบรนด์สินค้า สำนักข่าว คนดังต่างๆ เข้ามาร่วมชมไลฟ์และคอมเมนต์กันเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ โดยพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
ล่าสุด นายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และโฆษก พศ. ออกมาพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 38 ว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่อบรมบ่มนิสัยบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้ตั้งอยู่บนความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหากบรรพชิตและคฤหัสถ์ไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสสามารถขับไปเสียจากวัดได้ แม้หลายคนจะเห็นว่าการแสดงธรรมเช่นนี้เป็นวิธีการใหม่ รูปแบบใหม่ เป็นนวัตกรรมหนึ่งในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาออกสู่สังคม ตนมองว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะสังคมเราต้องการให้พระนำหลักธรรมคำสอนสู่สังคม เพื่อให้ทุกคนมีหลักธรรมประจำใจในการดำรงชีวิต ไม่ให้เกิดความผิดพลาดและสร้างความเดือนร้อนต่อสังคม แต่สิ่งสำคัญในความเป็นพระภิกษุสงฆ์คือ ความสำรวมในความเป็นสงฆ์ ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนสามารถพิจารณาได้เองว่าพระทั้ง 2 รูปที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านไลฟ์นั้นมีความเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ดร.มงคล นาฏกระสูตร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และอดีตผู้ชำนาญการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Mongkol Nath” ในหัวข้อ “พส.ตลกไลฟ์สด : ท้าทายศรัทธาไทย” โดยมีใจความว่า
“กรณีพระวัดสร้อยทอง 2 องค์ ได้ทำการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊คอย่างตลกโปกฮา…มีคนติดตามจำนวนมาก กลายเป็นที่กล่าวขวัญ (Talk of The Town) ว่า เหมาะสมมากน้อยเพียงใด หรือทำได้หรือไม่ เมื่อตนห่มจีวรกาสายะ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์อยู่ เรื่องนี้จึงท้าทายต่อศรัทธาและสติปัญญาของชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ที่พระทั้ง 2 กล้าทำเช่นนี้มีสาเหตุมาจากอะไร
นิยมพระตลก : สัญญาณความเสื่อมของพระศาสนา
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในกิมพิละสูตร อังคุตรนิกายว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน นี้แลกิมพิละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้พระสัทธรรมอยู่ไม่ได้นาน” และที่พระมหากัสสปะเถระ กล่าวไว้ในคราวสังคายนาว่า “ในคราวหน้า สภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจักมีกำลัง ธรรมวาทีจักเสื่อมกำลัง อวินัยวาทีบุคคลจักมีกำลัง อวินัยวาทีจักเสื่อมกำลัง”
การที่ผู้คนเป็นแสนมาเข้าชมพระพูดตลกโปกฮา เพื่อเรียกยอดไลค์ เรียกยอดโฆษณา เป็นสัญญาณหนึ่งชาวพุทธตระหนักว่าศาสนาของเราจะอยู่ยาวนานหรือไม่
พูดตลกคะนอง : ผิดทั้งธรรมและวินัย
พระพุทธองค์ห้ามพระพูดตลกคะนองและพูดเรื่องชาวบ้าน ห้ามพูดเดรัจฉานกถา เช่น พูดเรื่องทางโลก เป็นต้น และในพระวินัยมหาวิภังค์ ตรัสไว้ว่า ภิกษุไม่พึงเปล่งคำตลกคะนอง ปรารภพระรัตนตรัยโดยปริยายใดๆ
มีโทษชัดเจน แต่ยังกล้าขัดพระวินัยและชาวบ้านก็ติดตามเป็นอันมาก…เป็นสิ่งที่น่าห่วงใย
สร้างพรรคพวก : เพื่อปกปิดพฤติกรรมตน
ยุทธวิธีของพระกลุ่มนี้ คือ หาพรรคพวก สร้างความนิยมในหมู่ประชาชน ผ่านสื่อสารมวลชนและกลุ่มการเมือง เพื่อเป็นเกราะกำบังปกปิด พฤติกรรมที่หย่อนยานในพระธรรมวินัยของตนและพวกตน เพราะเมื่อถูกตรวจสอบก็จะมีกลุ่มพรรคพวกออกมาช่วยว่าถูกรังแกจากฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้มองข้ามเลยหลักพระธรรมวินัยไป
สงฆ์หิวแสง : เพราะปกป้องผลประโยชน์
พระที่ใช้สื่อโซเซียลสร้างชื่อเสียง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้นะรู้โม ล้วนมีวาระซ่อนแอบอยู่หลังฉาก เช่นเป็นเครื่องมือนักการเมืองที่ฝักฝ่าย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในการชิงอำนาจการเมืองและการเมืองในคณะสงฆ์เอง หรืออาจจะมาจากเรื่องความขัดแย้งเรื่องนิกายที่ตนสังกัด ดูเหมือนออกมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ แต่แท้ที่จริงเป็นแค่ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและคณะสงฆ์เท่านั้น
ช่วยปกป้องพระดี : เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน
ในปัจจุบันยังมีพระดีมากมายในบ้านเมืองที่รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ค่อยมีชื่อมีเสียง เพราะถูกพระผู้เก้อยากและไม่ค่อยมีความละอาย แย่งซีนในสื่อสารมวลชนไปแทบไปหมด เนื่องด้วยพุทธศาสนิกชน ไม่มีเวลาสนใจพระศาสนา เหมือนศาสนิกศาสนาอื่นๆ
พระที่มีความเป็นสมณะ สงบ บริสุทธิ์ด้วยศีลาจารวัตร ยังมีมากพอ แต่ชาวพุทธต้องมีสติปัญญามากพอที่มองเห็น อย่าไปสนับสนุนหรือให้กำลังแก่พระอธรรมวาทีเลย เพราะเป็นแค่สัญลักษณ์ของพระศาสนาเท่านั้น ทำบุญไปจะไม่ได้บุญ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพวกนี้แล้วจะประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต คราวนี้เป็นความท้าทายศรัทธาของชาวพุทธอีกครั้งว่าจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้กับบ้านเมืองของเราต่อไปอย่างไร
จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ขอให้พระพุทธศาสนา จงตั้งมั่นต่อไปตลอดกาลนาน”
————————————————-