อธิบายคำ น้ำเมา หมายถึง น้ำที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว จักทำให้มึนเมา ขาดสติ จักทำ พูด คิดอะไรไม่ไตร่ตรอง ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้จักตน ไม่รู้จักประมาณ ไม่รู้จักสถานที่ ไม่รู้จักบุคคล ไม่รู้จักชุมชนในขณะเมา เมื่อหายเมาแล้วก็จำอะไรไม่ได้
น้ำเมาเรียกอีกอย่าง คือ น้ำเปลี่ยนนิสัย ท่านแยกแยะแจกแจงเอาไว้ ๔ ชนิด คือ
๑. สุรา ได้แก่ สิ่งที่กลั่นจากข้าวหรือแป้ง
๒. เมรัย ได้แก่ แอลกอฮอล์กลั่นที่ทำจากน้ำตาลหรือผลไม้ และบางทีผสมด้วยน้ำตาล พริกไทย หรือเปลือกไม้
๓. มัชชะ ได้แก่สิ่งที่ทำจากน้ำผึ้ง
๔. อาสวะ ได้แก่ สิ่งที่ทำจากน้ำตาลจากต้นตาล ซึ่งเป็นได้ทั้งด้วยการหมักหรือด้วยการกลั่น
อธิบายคำว่า สำรวม หมายถึง การระมัดระวัง การละเว้น การหยุดยั้ง การบรรเทาทำให้เบาบางลง จนละเลิกได้ในที่สุด
ใครผู้ใดก็ตามเมื่อเสพเครื่องมึน ดอง ของเมา ต่างๆ เข้าไปแล้ว จะมีพฤติกรรมคล้ายสัตว์ ๕ จำพวก
๑. สุนัข ชอบเหา ชอบกัด ชอบทะเลาะวิวาท
๒. เป็นดังหมู เมาที่ไหนนอนที่นั้น
๓. ดุจดังนกเอี้ยง นกกระจอก ชอบพูดพร่ำบ่น พร่ำเพ้อโวยวายไม่หยุดหย่อน
๔. เหมือนงู ไปไม่ตรงทาง
๕. เหมือนดังเต่า ยิ่งดื่ม ยิ่งเสพ ประสาทสัมผัสทุกส่วนในร่างกายก็ล่าช้าลง ไม่เว้นแม้แต่สติปัญญา
โทษของการไม่สำรวมในการเสพติดเครื่องหมักดองของเมา สิ่งเสพติดทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการ คือ
๑. ทำให้เสียทรัพย์ เสียงานการ เสื่อมเสียตระกูลวงศ์
๒. ทำให้เกิดเรื่องราวทะเลาะวิวาท เพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้
๓. ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท ฯลฯ
๔. ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครไว้วางใจ
๕. ทำให้กิริยา วิปริต ขาดความละอาย พอเมาแล้วอะไร ก็ทำได้ จะนอนอยู่กลางถนน จะเอะอะโวยวาย จะถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะ ทำได้ทั้งนั้น
๖. ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย จะคิดอะไรก็คิดไม่ออก อ่านหนังสือก็ไม่ถูก พูดจาวกวน กลายเป็นคนหลงลืม ปัญญาเสื่อมถอย
ผู้ใดที่เสพติดสุราหรือสิ่งเสพติดทั้งปวงเข้าไปแล้วและอยากเลิก
๑. พิจารณาให้เห็นโทษ เห็นภัย
๒. ไม่เข้าใกล้ผู้เสพติด
๓. ขยันหมั่นเพียร ทำการงานทั้งภายในและภายนอก
๔. รักตนเอง รักครอบครัว รักตระกูลวงศ์
๕. มีสัจจะ พูดจริง ทำจริง ตั้งมั่น อยู่ในศีล ในธรรม
อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๑. ทำให้เป็นคนมีสติดี
๒. ทำให้ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา
๓. ทำให้ไม่เกิดการทะเลาะวิวาท
๔. ทำให้ระลึกเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว
๕. ทำให้ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน
๖. ทำให้มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง
๗. ทำให้มีชื่อเสียง เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
๘. ทำให้ไม่หลงทำร้ายผู้มีพระคุณ
๙. ทำให้มีหิริโอตตัปปะ
๑๐. ทำให้มีความเห็นถูก มีปัญญามาก
๑๑. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ
๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔