บทความ
ร่าง พรบ.ฉบับปฏิรูปบางหมวดและบางมาตรา ตอนที่ ๒
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
ตอนที่แล้วได้นำ พรบ.คณะสงฆ์ หมวดที่ ๒ ทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๕ และฉบับยกร่างปฏิรูป มาตราต่อมาตรา เทียบเคียงกันให้เห็นจะๆ ทั้งของเก่าของใหม่ ให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาแยกแยะว่าอะไรควรต่อพระธรรมวินัย อะไรไม่ควรต่อพระธรรมวินัย
ตอนที่แล้วได้จบลงตรงมาตรา ๑๕ ตรี ว่าด้วยเรื่องอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคม
วันนี้มาอ่านเล่นๆ กันต่อในมาตราที่ ๑๖ เปรียบเทียบกันมาตราต่อมาตรา ระหว่าง พรบ.ฉบับเดิมและฉบับยกร่าง
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
ฉบับยกร่างปฏิรูป มาตราที่ ๑๖ กรรมการมหาเถรสมาคมมีอายุในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน ๖ ปี ยกเว้นสมเด็จพระสังฆราช
มาตรา ๑๗ การประชุมมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งรวมกันประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
ระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคมให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม
ฉบับยกร่างปฏิรูป มาตราที่ ๑๗ การประชุมมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย ๓ ใน ๔ ของกรรมการทั้งหมด และประชุมกันเดือนละ ๑ ครั้ง ยกเว้นมีเหตุเร่งด่วน สมเด็จพระสังฆราชหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอาจส่งหมายเรียกประชุมด่วนได้
มาตรา ๑๘ ในกรณีนี้ที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ให้ถือว่ามหาเถรสมาคมมีกรรมการเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ในขณะนั้น
ฉบับยกร่างปฏิรูป มาตราที่ ๑๘ สำนักงานเลขาสมเด็จพระสังฆราชเมื่อได้รับรายชื่อของผู้ที่ได้การคัดเลือกมาแล้วจึงเรียกประชุมเจ้าคณะภาคกับเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ ให้ทำการคัดเลือกผู้ที่มีสิทธิทั้งประเทศให้เหลือ ๒๕ รูป แล้วนำขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชให้ทรงลงนามแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมสืบไป
มาตราที่ ๑๘ หมวด ๒ ให้เลขามหาเถรสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม ๑ รูป และ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ทำหน้าที่สนองงานมหาเถรสมาคมในทุกเรื่องที่มหาเถรสมาคมมีมติหรือสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชา
มาตรา ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมติมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย โดยขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม
การจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ การแต่งตั้งกรรมการหรือนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการหรือนุกรรมการ และระเบียบการประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบมหาเถรสมาคม
ฉบับยกร่างปฏิรูป มาตราที่ ๑๙ มหาเถรสมาคมมีอำนาจออกมติแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้น ทั้งนี้หลักการพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนต้องคำนึงถึงคุณสมบัติตามมาตราที่ ๑๕ แห่งหมวด ๒
พุทธะอิสระ