บทความ
พุทธบริษัทไทยคงจะได้รู้ว่าใครกันแน่ที่มันปกป้องอลัชชีอยู่ ตอนที่ ๒
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่รองผอ.สำนักพุทธ ออกมาบอกว่าจะต้องกลับไปดูอำนาจหน้าที่ของมหาเถรและสำนักพุทธ
พุทธะอิสระจึงจัดอำนาจหน้าที่ของมหาเถร สำนักพุทธ มาให้ท่านรองผอ.พุทธได้ศึกษา
วันนี้ขอนำคำให้สัมภาษณ์ของรองผอ.ที่พูดถึงกรณีที่หน่วยงานราชการจะชี้ว่าพระรูปไหนปาราชิกนั้นก็ต้องให้ผู้ใช้กฎหมาย และพระธรรมวินัยเป็นผู้ชี้คือพระสงฆ์
ตอบว่า ดูท่าท่านรองผอ.สำนักพุทธจะอ่านหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาและดีเอสไอไม่เข้าใจ
ทั้งสองหน่วยงานนี้เขาไม่ได้ชี้ว่าใครเป็นปาราชิก แต่เขายืนยันตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงใช้อำนาจทางพระธรรมวินัยตามหลักอนิยต ๒
คือเมื่อมีบุคคลควรเชื่อได้มาโจทก์ภิกษุรูปใดด้วยอาบัติอะไรก็ให้ปรับอาบัตินั้น ตามที่เธอรับเป็นสัจ
และทรงใช้ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ มาเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยอีกว่า
หากธรรมเหล่าใด
๑. เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่าธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย
อีกทั้งยังทรงใช้สิทธิของภิกษุในธรรมวินัยนี้
ตามพระวินัยบัญญัติ ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรค สิกขาบทที่ ๔ ความว่า
“อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเป็นปาจิตตีย์.” (ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ๔ และอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓)
จึงทรงโจทก์ขึ้นท่ามกลางหมู่สงฆ์และทรงให้พิมพ์เอกสารคำโจทก์ส่งไปยังวัดต่างๆ ทั่วสังฆมณฑล
แต่กลับได้รับการสกัดกั้น โดยผู้มีอำนาจหน้าที่ในสมัยนั้นไม่ยอมที่จะพิมพ์เผยแพร่
ทรงใช้หลักระงับอธิกรณ์ในข้อสัมมุขาวินัย แปลว่า ระเบียบอันจะพึงทำในที่พร้อมหน้า ๔ อย่าง คือ
๑. พร้อมหน้าสงฆ์ คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์กำหนดเป็นสงฆ์
๒. พร้อมหน้าบุคคล คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่พร้อมหน้ากัน
๓. พร้อมหน้าวัตถุ ได้แก่ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นวินิจฉัย
๔. พร้อมหน้าธรรมวินัย ได้แก่วินิจฉัยถูกธรรม ถูกวินัย
เมื่อทรงใช้สิทธิตามพระวินัยไม่ได้ผล
จึงทรงใช้อำนาจที่ได้รับพระราชทานมาจากองค์พระประมุขของชาติ ในการปกครองสังฆมณฑล
ซึ่งก่อนหน้านี้พระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนาจักร ดังตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก เพราะพระสงฆ์สมัยนั้นหย่อนพระธรรมวินัยไปมาก ไม่สนใจเล่าเรียนพระไตรปิฎก ละเลยในการปฏิบัติธรรม พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของฆราวาส จึงทรงมีพระบัญชาให้จับสึกและลงพนะอาญาพร้อมทั้งตรากฎหมายกำหนดโทษขั้นรุนแรง
และในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของสงฆ์ ปรากฏว่าพระสงฆ์ถูกจับสึกและหนีเข้าป่าเป็นอันมาก
แม้ในยุคสมัยครั้งหลังพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราชทรงร่วมปฏิรูปพระศาสนา จับสึกพระอลัชชีเสีย ๖๐,๐๐๐ กว่ารูป เพราะเป็นผู้ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส สั่งสมวัตถุ มัวเมาในลาภสักการะ หลงใหลในเกียรติ เห่อเหิมและเพลิดเพลินในโลกียวัตถุ จากนั้นทรงเป็นศาสนูปถัมภ์ในการสังคายนา และส่งสมณทูตประกาศพระพุทธศาสนา
ในแผ่นดินสยามเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จึงทรงพระราชทานอำนาจนั้นถวายแด่พระสังฆราช ให้ทรงทำหน้าที่ปกครองบริหารศาสนจักรให้สงบเรียบร้อย ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยสืบไป ดังปรากฏในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศมีจารึกในพระสุพรรณบัฏ ทรงสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระญาณสังวรขึ้นเป็นพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อยู่ในพระสุพรรณบัฏซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมพระนามในพระสุพรรณบัฏนี้
เมื่อถอดแปลความหมายแล้ว จะเห็นพระเกียรติคุณของพระองค์ที่ปรากฎหลายประการ ดังนี้
สมเด็จพระญาณสังวร – สมเด็จ-พระผู้มีสังวรธรรม (ธรรมเป็นเครื่องระวัง) อันประกอบด้วยพระปรีชาญาณ
บรมนริศรธรรมนีตภิบาล – ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในการถวายแนะนำพระธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นใหญ่อย่างยิ่งในหมู่นรชน
อริยวางศาคตญาณวิมล – ผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด้วยพระญาณอันสืบมาแต่วงศ์ของพระอริยเจ้า
สกลมหาสังฆปริณายก – ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง
ตรีปิฎกปริยัตติธาดา – เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก
วิสุทธจริยาธิสมบัติ – ทรงถึงพร้อมอย่างยิ่งด้วยพระจริยา (ความประพฤติ) อันบริสุทธิ์วิเศษ
สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต – ปรากฏพระนาม (พระฉายา) ในทางพระสงฆ์ว่า สุวัฑฒนะ
ปาวจนุตตมพิสาร – ทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์ (คำอันเป็นประธาน คือ พระธรรมวินัยอันสูงสุด)
สุขุมวิธานธำรง – เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน
วชิรญาณวงศวิวัฒ – ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พุทธบริษัทคารวสถาน – ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท
วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ – ทรงพระคุณอันเจริญด้วยพระปฏิภาณอันวิจิตร
วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร – ทรงงดงามด้วยพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์
บวรธรรมบพิตร – ทรงเป็นบพิตร (เป็นเจ้า) ทางพระธรรมอันประเสริฐ
สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี – ทรงเป็นประธานและอธิบดีผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระของคณะสงฆ์ทั้งปวง
คามวาสี อรัณยวาสี – คามวาสีและอรัญวาสี
สมเด็จพระสังฆราช – ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
“ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฎฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ”
อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชา
สมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” และมาตรา ๙ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม”
ตามกฎหมายนี้ สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยพระองค์เองได้ และในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ย่อมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาทั้งหมด ต่างกับสมัยแรกที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่พระมหากษัตริย์
สมัยต่อมามีอำนาจแต่เพียงในนามพระประมุขจะใช้อำนาจบัญชาการก็ต้องผ่านสังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธรผ่านสังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธร
อำนาจสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบันเท่ากับอำนาจสังฆนายก ประธานสังฆสภา และประธานคณะวินัยธร รวมกัน เพราะองค์กรทั้งสาม คือสังฆสภา คณะสังฆมนตรี คณะวินัยธร ตามกฎหมายปี ๒๔๘๔ รวมเป็นมหาเถรสมาคม ตามกฎหมายนี้จึงแยกพิจารณาเป็น ๒ ส่วนคือ
๑. อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
๒. อำนาจหน้าที่ ในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เป็นอำนาจในตำแหน่งพระประมุขโดยตรง มี ๒ อย่างคือ อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์กับอำนาจตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
อำนาจบัญชาการหมายถึงอำนาจที่จะสั่งการใดๆ
อำนาจตราพระบัญชาคือ อำนาจที่จะวางระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติใดๆ ได้
เมื่อมีพระดำริเห็นว่าเป็นการสมควรในการบริหารคณะสงฆ์ กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างกว้างๆ
มีข้อจำกัดเพียงว่า การบัญชาการและการตราพระบัญชานั้น ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม หากขัดแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ก็ไม่มีผลบังคับ คำสั่งหรือพระบัญชานั้นใช้ไม่ได้
อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม นับเป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหาร และการปกครองคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจออกกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือออกคำสั่ง เพื่อให้การปกครองเป็นไป
ด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ มหาเถรสมาคมเป็นสถาบันบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลาง ซึ่งรวมอำนาจสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามกฎหมายเก่าเข้าไว้ อำนาจของ
สมเด็จพระสังฆราชในตำแหน่งนี้ จึงกว้างขวางและมีความรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ และตามระเบียบพระราชประเพณีให้สมบูรณ์สืบไป
เช่นนี้แล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกทรงเป็นพระสงฆ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะวินิจฉัยหรือสั่งลงโทษภิกษุใดผู้ประพฤตินอกรีต ละเมิดพระธรรมวินัยได้หรือเปล่า ท่านรอง
พุทธะอิสระ