ขออนุญาตินำมาแชร์กันอ่านนะจ๊ะ

0
81

บทความ

ขออนุญาตินำมาแชร์กันอ่านนะจ๊ะ

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

020259 บทความ ขออนุญาตินำมาแชร์กันอ่านนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

 

ไม่ว่าพระ หรือแอบอ้างเป็นพระ ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย

 

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รองโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า พระพุทธะอิสระ หรือพระสุวิทย์ ธีรธัมโม ได้ยื่นเรื่องร้องให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของพระธัมมชโยไว้ 17 ประเด็น โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการถือครองที่ดินและทรัพย์สินรวมอยู่ด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นการถือครองที่ดินและทรัพย์สินของพระธัมมชโย เป็นคดีที่ก่อนหน้านี้ที่กองบังคับการปราบปราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับพระธัมมชโยแล้ว และมีการต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นระยะเวลาเกือบ 7 ปี ก่อนที่พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอถอนคดีต่อศาลอาญา

 

พ.ต.ต.วรณันยืนยันว่า หลังจากพนักงานอัยการได้ถอนฟ้อง ดีเอสไอตรวจสอบพบว่า ยังไม่ปรากฏเกี่ยวกับการดำเนินการทางสงฆ์กรณีการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน ดีเอสไอจึงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และส่งไปให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่จะดำเนินการ

 

หมายความว่า ตอนนี้ เรื่องไปอยู่ที่ พศ.แล้ว

ใครจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ก็รอดู

 

1) เรื่องนี้ ปรากฏพยานหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม กองบังคับการปราบปราม ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ปรากฏว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พระธัมมชโยถูกกองปราบปรามแจ้งข้อกล่าวหาและสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอสู้คดีในชั้นศาล กระทั่งสืบอีก 2 นัด ศาลจะตัดสินคดีอยู่แล้ว ฝ่ายอัยการในยุครัฐบาลทักษิณก็ไปถอนฟ้องเสียก่อน

 

อ้างว่า จำเลยกับพวกได้มอบทรัพย์สิน ทั้งที่ดิน และเงิน 959 ล้านบาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว

 

อ้างว่า การกระทำนั้นเป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ครบถ้วนทุกประการ

 

2) น่าคิดว่า หากคนเบียดบังเงินไปแล้วนำเงินมาคืน ก็จะถือว่าไม่มีความผิดแล้ว ได้หรือไม่?

 

ยิ่งในข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ตัวแทนไปติดต่อซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินโดยตรง มิใช่เจ้าของที่ดินยินยอมยกที่ดินให้กับทางวัด หรือบริจาคเงินให้กับวัดเพื่อให้ไปซื้อที่ดินให้แก่พระธัมมชโยเป็นการส่วนตัวไม่

 

เมื่อซื้อแล้ว ทำการเบิกจ่ายเงินในบัญชีของวัดไปซื้อ แต่กลับใส่ชื่อของตัวเอง แทนที่จะเป็นชื่อของวัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

 

ยิ่งกว่านั้น มิได้มอบที่ดินคืนให้แก่วัดทันทีตามพระลิขิตของพระสังฆราช ที่ว่า “ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันทีไม่คิดให้โทษ เพราะคิด ในแง่ยกประโยชน์ให้ว่าในชั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนา ถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด”

 

ยังพยายามต่อสู้คดี ยาวนานหลายปี กระทั่งจำยอมมอบทรัพย์สินที่มีข้อพิพาทคืนให้กับทางวัด

 

พฤติการณ์เช่นนี้ ตอกย้ำในเจตนาหรือไม่?

3) ส่วนกรณีอาบัติปาราชิกนั้น

ทุกวันนี้ ยังปรากฏว่า พระธัมมชโยยังแสดงตนเป็นพระสงฆ์อยู่

จริงๆ แล้ว ยังถือว่าเป็นสงฆ์อยู่หรือไม่?

 

เหตุใดมหาเถรสมาคม ไม่ดำเนินการสนองพระลิขิตโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎหมายเถรสมาคม?

 

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคมโดยเร็วต่อไป

 

หากปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ อาจมีส่วนในการถูกพิจารณาความผิดทางอาญา ฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่

 

4) เฟซบุ๊ค “หลวงปู่พุทธะอิสระ” บางตอนระบุว่า

 

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ 1 พระวินัยปิฎกมหาวิภังค์ ภาค 1 หน้า 80 ข้อที่ 91 แสดงพุทธบัญญัติของปาราชิกสิกขาบทที่ 2 ไว้ว่า

 

“อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดลัก จากหมู่บ้านก็ตามจากป่าก็ตาม มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชา

 

ทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง บริภาษว่า “เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย” ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นใด ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้เช่นนั้น แม้ภิกษุนี้ก็ปาราชิก หาสังวาสมิได้” เปรียบเหมือนใบไม้ที่หลุดจากต้นแล้วไม่อาจกลับคืนมาดังเดิมได้

 

นอกจากนี้ ยังมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ (ฉบับที่ 4) มีข้อความว่า การโกงสมบัติผู้อื่น ตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป คือ ประมาณไม่ถึง 300 บาท ในปัจจุบันภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ฐานผิดพระธรรมวินัย พ้นจากความเป็นพระทันทีในกรณีนี้ไม่ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึกหรือไม่ก็ตาม ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติแล้ว

 

5) งานนี้ คงจะต้องจบกันไปข้าง

 

พระสงฆ์จะต้องอยู่ให้การปกครองของคณะสงฆ์ ใต้พระธรรมวินัย พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช

 

และไม่ว่าจะเป็นพระ หรือไม่ใช่พระ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน

 

สารส้ม

 

ขอขอบคุณบทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
https://www.naewna.com/politic/columnist/22741