สรภังคชาดก (ตอนที่ 14)

0
53

สรภังคชาดก (ตอนที่ ๑๔)
๑๗ มกราคม ๒๕๖๖

ความเดิมตอนที่แล้ว

จบลงตรงที่องค์อินทราธิราชทรงตรัสถามถึงวิบากกรรมขององค์ราชาทัณฑกีราช และชาวนครพาราณสี ว่าเมื่อทำอกุศลกรรม อันหนักแก่ฤาษีกีสวัจฉ ผู้มีจิตอันไม่คิดเบียดเบียนแล้ว พวกเขาเหล่านั้นไปเกิดในที่ใด

คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ชี้ให้เห็นถึงวิบากกรรมของชาวนครพาราณสี ว่านอกจากจักได้รับวิบากกรรมที่เกิดจากฝนมหาวิบัติทั้ง ๗ ประการ จนตาย ขณะที่เป็นมนุษย์เมื่อแตกกาย ถูกทำลายขันธ์ลง ก็ไปบังเกิดในนรกทั้ง ๓ คือ

นรกถ่านไฟชื่อว่า กุกกุฬะ

นรกที่มีฝูงสุนัขตัวใหญ่เท่าอาชาไล่รุมกัด ชื่อว่า สุนขะ

นรกภาพมายากลายเป็นจริง ชื่อว่า มายาริยะ

ต่อมาองค์อินทราธิราชเมื่อทรงเห็นว่าเทวดาและมนุษย์บังเกิดความสยดสยอง ขนพอง เกรงกลัว วิตกกังวลว่าตนเองก็เคยได้กระทำกรรมอันเป็นอกุศลกรรมมานับครั้งไม่ถ้วน คงจะต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้มาเป็นแน่

องค์อินทราธิราชจึงทรงตรัสผูกปัญหา ตรัสถามคุรุฤาษีขึ้นว่า แล้วจักมีเครื่องห้าม เครื่องป้องกัน ไม่ให้ต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรก ครั้นตายแล้วได้อย่างไร พระคุณเจ้าข้า

คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ ได้กล่าวมธุรสวาจาภาษิตชี้ให้เห็นถึงเครื่องกั้น เครื่องป้องกันนรกเอาไว้ ๔ ประการ คือ

ทาน การให้ การเสียสละ การแบ่งปัน

ศีล การรักษากาย วาจาให้ปกติที่ไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

สมาธิ คือ การมีจิตตั้งมั่นในการทำการงาน และมีจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จนแน่วแน่แนบแน่นไม่สับส่าย ไม่สั่นคลอน ดุจดังภูเขาหินผา

ปัญญา คือ ความฉลาดในการให้ทาน

ฉลาดในการรักษาศีล

ฉลาดในการเจริญสมาธิ

ฉลาดในการดำรงชีวิต ที่ต้องไม่ไปสร้างอกุศลกรรมเพิ่มขึ้น

ฉลาดที่จักสร้างแต่กุศลกรรมในฝ่ายเดียว

เช่นนี้ประตูนรกก็จักไม่เปิดรับบุคคลผู้นั้น

องค์อินทราธิราชและมหาชนพร้อมทั้งเทวดา และหมู่ฤาษีทั้งปวง ครั้งได้สดับมธุรสวาจาสุภาษิตนี้จบลงก็พร้อมกันเปล่งสาธุการขึ้น ๓ ครั้ง จนบังเกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งชั้นฟ้าและดิน

ต่อมาเพื่อจะให้เทวดาและมนุษย์ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น องค์อินทราธิราชจอมมหาราชของเทวดาและมนุษย์จึงได้ผูกปัญหาตรัสถาม แก่องค์คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ ว่า

กาลใดชื่อว่า เป็นอัปมงคล กาลใดชื่อว่า เป็นกาลกิณี

คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า

กาลใดที่มนุษย์ทั้งหลายไม่มีจิตเมตตา ปฏิเสธในการให้ทาน ไม่ฉลาดในการให้ทาน กาลนั้นชื่อว่าเป็นอัปมงคล เป็นกาลกิณี

กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่เกรงกลัวต่อการละเมิดศีล ไม่ละอายชั่วกลัวบาป ไม่ปฏิบัติในศีล ไม่ฉลาดในการรักษาศีล กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี

กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่มุ่งมั่นตั้งใจทำในหน้าที่การงาน มีจิตอันสับส่าย สับสน เกียจคร้าน เชื่อมซึม ท้อแท้ ลังเล มีจิตอันประกอบด้วยอารมณ์หลายชนิด

ไม่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างชาญฉลาด กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี

และกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช้ปัญญานำพาชีวิต ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยการขับเคลื่อนจากความโง่เขลา จนก่อให้เกิดอกุศลกรรม กาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี

อีกทั้งกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่ระลึกรู้ถึงบุญคุณของท่านผู้มีคุณ ไม่ทดแทนสนองคุณท่าน ด้วยความชาญฉลาดกาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี

ครั้นคุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์กล่าวมธุรสคาถาตอบปัญหาจบลงแล้ว ทำให้เหล่าเทวดา หมู่ฤาษีทั้งปวง และมนุษย์บังเกิดปิติสุข ขนลุกขึ้น น้ำตาไหล อิ่มอกอิ่มใจ ชุ่มฉ่ำ ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ดุจดังมีน้ำทิพย์มาชโลมฉะนั้น

ทุกคน ทุกตน ทุกองค์ ต่างตะโกนร้องเปล่งสาธุการขึ้นพร้อมกันดังสนั่น กึกก้อง จนสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วฟ้าและดิน

ยังไม่จบนะจ๊ะ ยังมีต่อ โปรดติดตามตอนต่อไป

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0wyupDTB1hxtZyo77a82Z6nWsKd4B52DY5Xvg1TTtuhS24TowGXE5u9rFG45up6A9l