เขาออกมาขู่อีกแล้วพี่น้อง ตอนที่ ๑

0
89

บทความ

เขาออกมาขู่อีกแล้วพี่น้อง ตอนที่ ๑

๓ มกราคม ๒๕๕๙

เขาออกมาขู่อีกแล้วพี่น้อง ตอนที่ ๑ (1)

 

พอเห็นว่าท่านนายกไม่ไปเจริญมนต์ที่วัดปากน้ำตามหมายกำหนดการ ทำให้พวกลิ่วล้อของวัดปากน้ำ วัดธรรมกาย ต่างพากันผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะพวกเขาคาดหวัง เพ้อฝันเอาไว้มาก

 

ด้วยเพราะงานนี้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่กลับไร้เงาท่านผู้นำ ถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างสำหรับพวกเขา

 

เมื่อความเพ้อฝันล่มสลาย ลิ่วล้อจีวรแดงอย่างเฮียประสารแห่ง มจร. ผู้เจนจัดในการข่มขู่ จึงออกมาฟาดงวงฟาดงา แยกเขี้ยวให้รัฐบาลเสียวตามความถนัดของเฮียแก

 

เช่นในเดือน ก.พ. ๕๘ เฮียประสารแกก็ออกมาขู่เรื่องจะระดมนักบวชออกมา หากไม่ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาภายใน ๑๕ วัน

 

และในเดือน ก.ค. เฮียก็ออกมาร่อนจดหมาย ระดมเจ้าอาวาสทั่วประเทศให้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี กดดันนายกให้คัดค้าน พรบ.จัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ อ้างมีกลุ่มบุคคลให้ร้ายโจมตีคณะสงฆ์เหมือนเดิม

 

อีกทั้งในต้นเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา เฮียและพวกถูกคณะ คสช.เข้าไปเจรจาปรับทัศนคติที่ มจร. ในเรื่องการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและไม่นำไปสู่การปลุกมวลชน อีกทั้งควรระวังเรื่องการโพสต์ข้อความต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ควรใช้ข้อความเชิงปลุกระดมหรือข้อความที่บิดเบือน เพราะจะทำให้กระทบไปถึงความมั่นคงและความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

 

และแล้วปีนี้เฮียแกเปิดศักราชด้วยการออกมาขู่อีกว่า “ถ้าสมมุติว่าเกิดผิดฝาผิดตัวขึ้นมาจริงๆ จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เสี่ยงมาก เสี่ยงมากจริงๆ เสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายในหมู่สงฆ์และอาจจะเป็นชนวนเหตุให้อีกกลุ่มหนึ่งนำไปกล่าวอ้างในการแบ่งแยกนิกายกันปกครองของคณะสงฆ์ไทยก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน”

 

อ่านดูคำขู่ของเฮียแกแล้วคิดกันอย่างไรบ้างล่ะพี่น้อง

 

พักเอาไว้แค่นี้ก่อน โปรดติดตามตอนต่อไป

 

พุทธะอิสระ

________________________________________________________________________

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1545276122453657&id=100009138530472

 

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

 

นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 เป็นเหตุให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ตามกฎหมายต้องแต่งตั้ง ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ใขเพิ่มเติม พ.ศ.2535

 

คุณสมบัติของพระมหาเถรที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ (ได้รับการสถาปนาจากพระมหากษัตริย์เป็นสมเด็จฯก่อนสมเด็จฯรูปอื่นๆ)แน่นอนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน โดยได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2538 ในขณะที่สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสอันดับที่สองคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2544 ระยะเวลาสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะห่างกันถึง 6 ปี

 

ขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

 

ตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ใขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ระบุไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังราชองค์หนึ่ง

 

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง

 

ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช…”

 

นัยของกฎหมายชัดเจนไม่ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ กล่าวคือมหาเถรสมาคมเรียกประชุม(โดยประธาน)และมีมติเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ (พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาให้พระมหาเถรรูปใหนเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อนรูปอื่นๆ)เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

 

ในมาตรา 7 ว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ แม้ในวรรคท้ายจะระบุถึงกรณีถ้าหากสมมติว่า สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้มีวิธีเสนอตามลำดับถัดไป ในกรณีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากนำ้ ภาษีเจริญ ไม่มีปัญหาไดๆ ยังคงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ความจำ สติปัญญา ดีเยี่ยม

 

เจตนารมณ์ของกฎหมายและคณะสงฆ์

 

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชชัดเจนว่า เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง) พระราชอำนาจนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจวบจนถึงปัจจุบัน

 

เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นชัดเจนว่าสะท้อนมาจากวัฒนธรรม ประเพณีและราชประเพณี กล่าวคือในเมื่ออำนาจนั้นทรงเป็นของพระมหากษัตริย์ บุคคลธรรมดาและพระสงฆ์ต้องเคารพในพระราชอำนาจนั้น ไม่ควรทำให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทนี่ประการหนึ่ง ประการที่สองที่บอกว่าปฎิบัติตามราชประเพณีนั้นคือ พระสงฆ์เมื่ออยู่วัด ทำสังฆกรรม ทำกิจสงฆ์ ต้องเคารพนับถืออาวุโสตามพรรษา รูปใหนบวชก่อน บวชทีหลัง เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา ปลงอาบัติ เป็นต้น แต่เมื่อมีงานที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะต้องใช้พัดยศ ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระองค์พระสงฆ์จะนั่งตามลำดับพัดยศที่ได้รับพระราชทานมาคือตามลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์นั่นเอง

 

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่กำหนดให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ก็สะท้อนถึงราชประพเณีที่เกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

 

สำหรับประเด็นสะท้อนเจตนารมณ์ของคณะสงฆ์นั้น ชัดเจนว่าสังคมสงฆ์ อยู่กันอย่างสงบ ร่มเย็น เคารพนับถือผู้ใหญ่ และอนุวัตรตามพระราชามหากษัตริย์(อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุ)ดังนั้นการจะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ พระองค์จะทรงดำรงฐานะเป็นสังฆบิดร และนำความศรัทธาเลื่อมใสมาสู่พุทธศาสนิกชนทั้งมวล สำหรับขั้นตอนและวิธีการที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯควรจะชัดเจน โปร่งใส ไร้ข้อกังขาและปิดช่องทางอื่นๆที่จะนำความเสื่อมมาสู่คณะสงฆ์
ปัจจุบันมีปัญหาอะไรในการสถาปนา

 

ปัจจุบันแม้จะดูว่าขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสตามหลักเกณฑ์จะยังไม่ดำเนินการโดยมหาเถรสมาคมก็ตาม แต่ก็มีข่าวจากบุคคลบ้าง กลุ่มคนบ้าง ที่คอยโพสต์และแชร์ข่าวโจมตีคณะสงฆ์และสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์อยู่เนืองๆ คนเหล่านี้เป็นใคร มีเป้าหมายเพื่ออะไร ลองตามดู

 

1.กลุ่มการเมือง แน่นอนว่ากลุ่มการเมืองบางสี บางพวก กำลังมุ่งโจมตีคณะสงฆ์อย่างหนัก กลุ่มนี้ประสานงานกันทั้งพระและฆราวาส การเล่นงานโจมตีคณะสงฆ์ก็ด้วยเหตุผลคือ

 

1.1 พวกเขามองว่าคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ถือสี ถือข้างทางการเมืองต่างจากพวกเขา วิธีคิดแบบนี้จึงมโนไปถึงพระมหาเถรผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์สงฆ์ด้วย ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชาคณะ

 

1.2 พวกเขากำลังมีอำนาจรัฐในมือจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะสงฆ์ อำนาจหน้าที่ในทางสงฆ์และอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องให้สำเร็จในยุคนี้ให้จงได้ เช่น การปฎิรูปคณะสงฆ์ การแก้ใขกฎหมายสงฆ์ การแก้ใขระเบียบปฎิบัติต่างๆ และการเข้ามาก้าวก่ายกิจการงานของคณะสงฆ์ เป็นต้น

 

1.3 แนวคิดเรื่องอำนาจนิยมแบบการเมืองที่กลุ่มเขากำลังดำเนินการอยู่ วิธีนี้เบื้องต้นประมุขสงฆ์ต้องเป็นพระที่เขามั่นใจว่า พูดจาภาษาเดียวกันรู้เรื่องนี่เป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวเข้ามามีอำนาจเหนือศาสนจักรของฝ่ายอาณาจักร

 

1.4 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแนวทางของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา เรื่องนี้สำคัญมากส่วนใหญ่ชาวพุทธมองข้ามประเด็นนี้ไป ซึ่งก็น่ากลัวมากเป็นประเด็นใหญ่ คณะสงฆ์และพระพุทธศาสนานั้นมีคุณูปการและเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ เป้าหมายหลักคือการช่วยให้หมู่สัตว์ทั้งปวงข้ามพ้นจากวัฏฏสงสารโดยไม่เลือกหมู่เหล่า ชั้น วรรณะ

 

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะนำเอาคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนามารับใช้แนวทางของตนเอง เพื่อตนเองและคณะ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ขอเพียงให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น การกระทำเช่นนี้จะนำความเสียหายมากน้อยแค่ใหนมาสู่สังคมและประเทศชาติไม่เคยใส่ใจตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็เป็นเรื่องในทางการเมือง จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่กำลังมีอำนาจรัฐอยู่ในมือขณะนี้ กำลังห้ำหั่นคู่ต่อสู้ทางการเมืองให้แหลกลาญ โดยไม่ใส่ใจต่อกฎหมายและความถูกต้องชอบธรรมในระบบนิติรัฐ นิติธรรมที่ควรจะเป็น นานาชาตินั้นมองเห็นความไม่ยุติธรรมของสังคมไทยเกลื่อนไปทั่วแผ่นดิน ผิดกลายเป็นถูก ถูกกลายเป็นผิด

 

วิธีการแบบนี้ถูกจับมาวางทับซ้อนกับสังคมสงฆ์ในปัจจุบันจนมองเห็นได้ชัดเจน ถูกผิด ชั่วดี พระธรรมวินัย ไม่คำนึงถึงขอให้เป็นพระของฉัน กลุ่มของฉัน วิธีการแบบนี้คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาอย่างแยบยลที่สุด การแยกพระออกเป็นฝักเป็นฝ่าย(สังฆเภท) เพียงแค่ขอให้บรรลุเป้าหมายของตนเองเท่านั้นก็พอ อาศัยให้พระเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายล้างกันทางการเมือง ส่วนพระจะทำอะไรเสียหายขนาดใหนก็ยอมรับได้ ขอให้เป็นพวกกัน

 

จากนั้นก็จะหันเหแนวทางของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนามารับใช้แนวทางของตัวเองจะโดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม นี่คือหายนะในวงการสงฆ์และพระพุทธศาสนาในสังคมไทย

 

2.กลุ่มไม่ศรัทธาในพระสงฆ์ กลุ่มนี้เมื่อมีเหตุการณ์อะไรในวงการสงฆ์ก็พลอยจะซ้ำเติมด่าทออยู่เป็นนิตย์

 

3.กลุ่มมีผลประโยชน์ กลุ่มนี้มีทั้งผู้ได้ผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมจากเรื่องนี้

 

4.กลุ่มจ้องทำลาย พวกนี้รอทำลายพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว โด้ที ได้โอกาสก็ผสมโรงเข้าไปด้วยกัน

 

คณะสงฆ์มีปฎิกิริยาอย่างไร

 

ขณะนี้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ล้วนมองเห็นและเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย แต่ก็เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่พูด ไม่แสดงออก มีเพียงบางรูป บางกลุ่มเท่านั้นที่ออกมาพูดจาตามโอกาส

 

ในเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 นั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างมองตรงกันว่า ควรจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายและครรลองของประเพณีปฎิบัติ พระ คน และกลุ่มบุคคลที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ควรจะยุติ เพราะเป็นขั้นตอนปฎิบัติของกฎหมายและประเพณีปฎิบัติ ส่วนอำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เราเป็นข้าพระบาทในพระองค์ท่านควรสำนึกในสิ่งเหล่านี้

 

ถ้าผิดฝาผิดตัวจะเกิดอะไรขึ้น

 

โอกาสจะผิดฝาผิดตัว หรือผิดพลาดในเรื่องนี้น้อยมาก เพราะ

 

1.ชัดเจนในข้อกฎหมายและประเพณีปฎิบัติ

 

2.มหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว มส.คงไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองแน่นอน

 

3.คงไม่มีสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นใดที่ไม่ต้องตามคุณสมบัติจะต้องมาเสี่ยงเป็นตัวละครในเรื่องนี้ ใหนจะกฎหมาย ใหนจะประเพณีปฎิบัติ ใหนจะมารยาทและคุณธรรมอันดีงามระหว่างนิกาย (ย้อนกลับไปดูมารยาทและคุณธรรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ)วัดมหาธาตุ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฟื้น) วัดสามพระยา) ในคราวสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่พึ่งถวายพระเพลิงไปเมื่อวันที่ 16 ธค. 58 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปทั้งสองนิกายก็ตระหนักในสิ่งนี้ สมเด็จฯทุกรูปมีศีลาจารวัตรที่งดงามไม่ด่างพร้อย เคารพในเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และพร้อมรับองค์สังฆบิดรรูปใหม่ ปัญหาเกิดจึงจากคนอื่นมิใช่สมเด็จพระราชาคณะทั้ง 8 รูป

 

4.รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี คงไม่กล้าทำลายคณะสงฆ์โดยการนำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แน่นอน

 

นี่คือความจริงที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงตระหนัก และให้ความสำคัญ ข้อวิตกกังวลในเรื่องนี้เกิดจากข่าวลือ ข่าววงในและโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งหลายที่โหมกระหน่ำโจมตีและจับแพะชนแกะอยู่ในขณะนี้

 

ดังนั้น ทุกฝ่ายควรรีบดำเนินการตามครรลองปฎิบัติ เพราะยิ่งปล่อยนานวันยิ่งไม่เป็นผลดีต่อคณะสงฆ์โดยรวม

 

และถ้าสมมุติว่าเกิดผิดฝาผิดตัวขึ้นมาจริงๆจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เสี่ยงมาก เสี่ยงมากจริงๆ เสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายในหมู่สงฆ์และอาจจะเป็นชนวนเหตุให้อีกกลุ่มหนึ่งนำไปกล่าวอ้างในการแบ่งแยกนิกายกันปกครองของคณะสงฆ์ไทยก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน
สถานการณ์ ณ เวลานี้จึงถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงระมัดระวังและจงตระหนักให้ดี

 

พระเมธีธรรมาจารย์

1 มกราคม 59