เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอัญญาโกณฑัญญะ (ตอนที่ 6) 24ก.ค.2565

0
10

เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๖)
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕

เรายังอยู่กับอัตชีวประวัติของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ

มาถึงตอนสุดท้ายที่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยอธิบายความดังนี้

เมื่อปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้บรรลุธรรมแล้วจึงขอบวช พระบรมศาสดาทรงประทานบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วจึงทรงตรัสสั่งว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย อะไรกันแน่ที่เรียกว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

อธิบายคำว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข พระบรมศาสดาทรงแสดงประโยชน์ไว้ ๒ ประการคือ

ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ หรือ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในขั้นต้น เป็นหลักปฏิบัติในการสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะที่มั่นคง มี 4 ประการ คือ

1. อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต ไม่เกียจคร้าน รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาวิธีในการจัดการกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

2. อารักขสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้จากการทำงาน ไม่ให้สิ้นเปลืองหมดไปด้วยสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อีกอย่างหนึ่งคือ รู้จักรักษางานหรือผลงานที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้นไม่ให้เสื่อมเสีย และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ รักษาเงินและรักษางาน

3. กัลป์ยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี คือ ต้องรู้จักเลือกคบคน คบเฉพาะคนที่เป็นคนดี เป็นบัณฑิต สามารถแนะนำชักจูงเราไปในทิศทางที่ดีได้ ไม่คบคนชั่วคนพาลที่จะนำพาเราไปสู่ความเสื่อม

4. สมชีวิตา การเลี้ยงชีพแต่พอสมควร คือ มีความเป็นอยู่เหมาะสม ใช้จ่ายแต่พอดีแก่ฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย รู้จักแบ่งเก็บแบ่งใช้ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวนั่นเอง

สัมปรายิกัตถะประโยชน์ หรือ สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ภายหน้า หรือ ธรรมที่เกื้อหนุนให้ได้ประโยชน์ในภายหน้าหรือภพหน้า มี 4 ประการ คือ

1. สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ ความเป็นคนมีศรัทธา มีความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา หมายเอาศรัทธา 4 ประการ คือ

กัมมสัทธา ความเชื่อในเรื่องของกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง

วิปากสัทธา ความเชื่อในเรื่องผลของกรรม ว่าให้ผลได้จริง

กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้จะได้รับผลของกรรมนั้น

ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย

3. จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ คือ ยินดีเสียสละ ทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกาย

4. ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ ความเป็นผู้รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ แล้วละสิ่งที่เป็นบาป ทำสิ่งที่เป็นบุญ ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

ประโยชน์ในชาตินี้และประโยชน์ในชาติหน้า ๒ ประการ ดังกล่าวมานี้คือจุดมุ่งหมายหลักที่พระบรมศาสดาทรงสั่งกำชับให้ภิกษุสาวกต้องกระทำให้แก่มหาชน

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือ คำสั่งที่ทรงให้ภิกษุสาวกกระทำแก่มนุษย์และเทวดา คือ คำว่า เพื่อความสุข

หากจะว่ากันตามบทปฐมเทศนา เราท่านทั้งหลายถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียด เราจะเห็นว่า พระบรมศาสดามิได้ทรงตรัสถึง ความสุขเลย มีแต่คำว่า ทุกข์ และเหตุเกิดทุกข์ ทางดับทุกข์
แต่ในเวลาที่จะส่งพระสาวกไปประกาศพระสัทธรรม กลับทรงตรัสสั่งให้ทำเพื่อความสุขของมนุษย์และเทวดา

ดุจดังตอนที่พระพุทธองค์ทรงต้องการตรัสรู้ธรรม ก็เพื่อความพ้นทุกข์และเปลื้องทุกข์นั้นให้กับมนุษย์และเทวดา แต่พอมรดกธรรมนั้นตกมาถึงยุคของภิกษุสาวดจักทำอย่างไรให้หมู่มนุษย์และเทวดามีความสุขทั้งกายและใจเล่า

นี่น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันขบคิด

*************************************************

มีพุทธพจน์ที่ตรัสในเรื่องความสุขนี้ว่า

“อานนท์ ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญา เวทยิตนิโรธอยู่ นี้แล คือความสุข ที่ดีเยี่ยมกว่า และประณีตกว่าความสุขอื่นใดทั้งหมด”

*************************************************

พุทธพจน์ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้

ภิกษุ : เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความครุ่นคิดในใจอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา…แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ ตรัสข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์; ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์ดังนี้ พระองค์ตรัสหมายถึงอะไรหนอ?

พระพุทธเจ้า : ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุก ขมสุขเวทนา แต่เราก็ได้กล่าวข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์,

ความข้อนี้เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล เป็นสิ่ง ไม่เที่ยง..เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล มีความสิ้น ความสลาย ความจางหาย ความดับ ความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา

เช่นนี้แล้วความสุขจะไม่สิ้น ไม่สลาย ไม่จางหาย ไม่ดับ ไม่แปรปรวนได้อย่างไรเล่า

*************************************************

ครั้งหนึ่ง มีปริพาชกถามพระสารีบุตรว่า อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์ ในธรรมวินัยนี้ พระสารีบุตรได้ตอบว่า

“ความไม่ยินดี นั่นแลท่าน เป็นทุกข์ในธรรมวินัยนี้, ความยินดี จึงเป็นสุข

“เมื่อมีความไม่ยินดี ก็เป็นอันหวังทุกข์นี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ไม่ประสบความสุข ความสําราญ แม้ยืนอยู่ แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ แม้อยู่ในบ้าน แม้อยู่ในป่า แม้อยู่ที่โคนไม้ แม้อยู่ในเรือนว่าง..แม้อยู่ในที่แจ้ง…แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ไม่ประสบความสุขความสําราญ, เมื่อมีความไม่ยินดี ย่อมเป็นอันหวังทุกข์นี้ได้,

* เมื่อมีความยินดี ก็เป็นขันหวังความสุขนี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ประสบ ความสุขความสําราญ แม้ยืนอยู่ แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ แม้อยู่ในบ้าน… แม้อยู่ในป่า แม้อยู่ที่ โคนไม้แม้อยู่ในเรือนว่าง…แม้อยู่ในที่แจ้ง แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ย่อมประสบความสุข ความสําราญ, เมื่อมีความยินดี ก็เป็นอันหวังความสุขนี้ได้”

*************************************************

พระสารีบุตรได้เคยอธิบายไว้ในนิพพานสูตร ความย่อว่า ครั้งหนึ่ง ท่านได้กล่าวกับภิกษุ ทั้งหลายว่า

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”

พระอุทายีจึงถามท่านว่า “จะมีความสุขได้อย่างไร ในภาวะที่ไม่มีการเสวยอารมณ์”

พระสารีบุตรตอบว่า “นิพพานที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ นี่แหละเป็นสุข เพราะการที่ไม่เสวยอารมณ์นี่แหละ คือความสุข”

พุทธะอิสระ

——————————————–