ทันเหตุการณ์กับหลวงปู่พุทธะอิสระ
ถอนตำแหน่งบริหาร หรือถอดจีวร?
๙ มีนาคม ๒๕๕๙
แกนนำพระศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา ที่แสดงบทบาทเคลื่อนไหว จะยื่นถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยการนำเสนอข้อมูลบิดๆ เบี้ยวๆ ณ ขณะนี้ ประกอบด้วย
1) พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าการนำเสนอชื่อฯ ผิดขั้นตอนกฎหมายนั้น โดยยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยมติ มส. เพราะ มส.ไม่ใช่หน่วยงานราชการ แถมอ้างกรณีตัวอย่างว่าเคยมีหนังสือตอบกลับของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2559 ที่แจ้งถึง ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตร กรณีร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าอาวาส ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือตอบกลับว่า ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องของสงฆ์
นี่คือการบิดเบือนอย่างน่าอับอายที่สุด
จับแพะชนแกะ
ยังไม่ต้องไปตรวจสอบว่ากรณีที่จังหวัดพิจิตรซึ่งพระรูปนี้อ้างขึ้นมานั้น มีอยู่จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงอย่างไร แต่เอาเฉพาะคำกล่าวของพระรูปนี้ ก็สะท้อนความไม่เข้าใจ หรือแกล้งโง่?
ไม่ทราบว่า อ่านหนังสือภาษาไทยที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย แตกฉานหรือไม่?
ถ้าอ่านหนังสือออก ทำไมถึงไม่เข้าใจว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมิได้วินิจฉัยการกระทำของพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคม แต่วินิจฉัยการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังท้ายหนังสือของผู้ตรวจระบุชัดว่า
“กรณีผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้มีบันทึกเรียนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) ว่าในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งพิเศษ ที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 13 (1) (ก) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552”
ย้ำ… ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ … อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ
ยิ่งกว่านั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 มาตรา 45 บัญญัติชัดเจน ให้ถือว่าเจ้าอาวาส ผู้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา มีทั้งอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย การทำหน้าที่ หรือการบริหารจัดการเงินๆ ทองๆ เกี่ยวกับวัด ต้องถูกตรวจสอบตามกฎหมาย และมีโทษหนักหากพบว่ากระทำผิด ดังปรากฏว่าเคยมีคดีฟ้องศาลว่าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมากมาย
ส่วนประเด็นที่รองเลขาฯศูนย์พิทักษ์ฯ อ้างเรื่องที่จังหวัดพิจิตรนั้น ควรจะต้องเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือด้วย มิใช่อ้างลอยๆ ตัดตอนเนื้อความมาพูด จะเข้าข่ายมุสา เพราะผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คือ
เจ้าพนักงานสอบสวนผู้บังคับใช้กฎหมาย มิใช่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่ใช่เรื่องจะหยิบมามั่วนิ่มอ้างแบบนี้
แต่ถ้า “ร้อนตัว” แทนมหาเถรสมาคมนัก ก็มีประเด็นที่ควรจะไปอ่าน ปรากฏอยู่ในหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า “ถึงแม้ว่ามหาเถรสมาคมจะมีอำนาจปกครองสงฆ์ แต่มิได้หมายความว่าคณะสงฆ์จะมีอิสระจากการควบคุมจากกลไกของรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐสามารถตรวจสอบและควบคุมการบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้ตลอดเวลาในนามของการอุปถัมภ์ ส่งเสริม และคุ้มครองทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 13 มาตรา 15 ทวิ มาตรา 32 ทวิ มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 40 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535”
ในการวินิจฉัยครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ได้ชี้ขาดการกระทำของมหาเถรฯ เพียงแต่มุ่งไปที่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
อันที่จริง ควรทราบด้วยว่า ในวันที่ชุมนุมที่พุทธมณฑลนั้น พระครูปลัดกวีวัฒน์ ขึ้นเวทีปราศรัยเผ็ดร้อน ข่มขู่ด้วยว่า กิจกรรมในวันนั้นเป็นเพียงโมเดลตัวอย่าง “หรือว่าท่านอยากจะเห็นเมืองหลวงของเรา เต็มไปด้วยจีวร”
2) “เจ้าคุณประสาร” พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา มีตำแหน่งเป็นถึงรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เป็นแกนนำหลักในการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์
ล่าสุด ปรากฏว่า มีข้อเรียกร้องให้ถอดถอนพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) ออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
โดยคุณอุทัย ภัทรสุข พธ.ม.(พระพุทธศาสนา) มจร. ภาคพิเศษ รุ่นที่ 22 ระบุว่า
“ท่านเมธีฯ มีสิทธิ์เป็นแกนนำเรียกร้องต่างๆ ได้ แต่ต้องไม่อยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงของ มจร. ที่ได้รับเงินเดือนหลายหมื่นบาท จากเงินภาษีของประชาชน และทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ วัตถุประสงค์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยสงฆ์
จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มจร. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งและถอดถอนบุคลากรระดับรองอธิการบดีโดยตรง เพื่อธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงเกียรติภูมิ สมกับเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ควรยกย่องเคารพศรัทธา ให้สมดังปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสถาปนาสถาบันนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 นับเป็นเวลา 120 ปีแล้วในวันนี้
จึงนมัสการ กราบเรียนพระเดชพระคุณท่านคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่เคารพอย่างสูง ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย มจร. อันทรงเกียรติขณะนี้เพื่อโปรดพิจารณาถอดถอนพระเมธีธรรมาจารย์ออกจากตำแหน่ง รองอธิการบดี มจร. ด้วยเทอญ
กราบเรียนมาด้วยความเคารพและด้วยความรักศรัทธาในสถาบัน มจร.”
อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ พระปลัดนนท์ กิตฺติปญฺโญ ประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ออกมาข่มขู่ว่า “หากรัฐบาลยังก้าวก่ายกับศาสนจักรอยู่ พระนิสิต มจร.ขอให้ทางศาสนจักรคว่ำบาตรฝ่ายรัฐบาล ไม่ควรรับกิจนิมนต์ของคณะรัฐบาลเด็ดขาด เพราะฝ่ายอาณาจักรนำการเมืองทางโลกเข้ามาสู่ศาสนา ทำให้ไม่เกิดความสงบ”
น่าสนใจว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ปัจจุบัน ประกอบด้วย
พระธรรมสุธี (พีร์ สุชาโต) นายกสภามหาวิทยาลัย
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี
กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีทั้งพระและฆราวาส
ในจำนวนนั้น มีนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น
ตกลงว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ มีจุดยืนอย่างไร? จะให้ท้ายผู้บริหารสถาบันที่ออกมาเคลื่อนไหวก้าวก่ายการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และของรัฐบาล อย่างนั้นหรือ?
ขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์แนวหน้า