ผู้ปรารถนาสมบัติอันเป็นทิพย์ ต้องทำ พูด คิดด้วยความซื่อตรง จริงใจ บริสุทธิ์ใจ
๒๙ กันยายน ๒๕๖๖
***********************
องค์พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า
โย อิจฺเฉ ทิพฺพโภคญฺจ ทิพฺพมายุํ ยสํ สุขํ
ปาปานิ ปริวชฺเชตฺวา ติวิธํ ธมฺมมาจเร.
ผู้ใด ปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ สุข อันเป็นทิพย์, ผู้นั้นพึงงดเว้นบาปทั้งหลาย แล้วประพฤติสุจริตธรรม ๓ อย่าง.
***********************
อธิบายคำว่า บาปทั้งหลายที่ควรเว้นนั้นคือ
บาปที่เกิดจากกายทุจริต อันได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
บาปที่เกิดจากวาจาทุจริต อันได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
บาปที่เกิดจากมโนทุจริต อันได้แก่ โลภอยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (มิจฉาทิฐิ)
อธิบายคำว่า ประพฤติในสุจริตธรรม ๓ อย่าง อันได้แก่
กายสุจริต มีเมตตาช่วยเหลือหมู่สรรพสัตว์ ด้วยความเอื้อเฟื้อ จริงใจ โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน
อนุเคราะห์เกื้อกูล บริจาคแบ่งปัน เสียสละให้ประโยชน์แก่หมู่สรรพสัตว์ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยของดี ของที่มีประโยชน์ต่อผู้รับ ของที่เป็นคุณ ปราศจากทุกข์ โทษ ภัย
รู้จักให้อภัยแก่มนุษย์และสัตว์ด้วยความรู้จัก เข้าใจว่า สัตว์โลกทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกรรม และด้วยเพราะวิบากแห่งกรรมนั้นๆ มนุษย์และสัตว์ตนนั้นจึงต้องทำ พูด คิด ผิดพลาด บกพร่อง ไม่ถูกต้อง โง่เขลา ล่วงเกินต่อเรา จึงควรให้อภัย
ขบวนการให้อภัยจักต้องผ่านการพิจารณามาเช่นนี้ก่อนที่จะเริ่มให้อภัย จวบจนชำนาญติดเป็นสันดาน นิสัย
ทีนี้เราให้อภัยก็ต้องพร้อมที่จะให้ด้วยหัวใจ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำใจ มันจะกลายเป็นอภัยทานเกิดขึ้นมาเอง แต่ต้องทำอยู่เป็นอาจิน เรียกว่า อาจิณณกรรม สำหรับการอภัยทาน
วจีสุจริต อันได้แก่ พูดจริง พูดจากใจ พูดด้วยความหวังดี ปรารถนาให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ โดยมิมุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน แต่พูดเพราะต้องการให้ผู้ฟังได้นำไปพัฒนาชีวิต จิตวิญญาณของตนให้เจริญรุ่งเรือง สำเร็จประโยชน์ในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พูดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ปรารถนาให้ผู้ฟังได้หลุดพ้นจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ให้ได้รู้ได้เข้าใจในสิ่งที่ควรรู้ รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ สิ่งถูก สิ่งผิด ได้ชัดเจน
สุดท้ายพูดเพื่อให้เกิดความเห็นตรง ถูกต้อง ตามความเป็นจริง
มโนสุจริต อันได้แก่ ไม่ว่าจะทำกาลสิ่งใด พูดในเรื่องใดๆ จำเป็นต้องมีความสุจริตใจ ซื่อตรง จริงใจ บริสุทธิ์ใจ ตั้งจิตปรารถนาเพื่อประโยชน์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์แก่ผู้ร่วมทำ ร่วมพูด ร่วมคิดให้สำเร็จประโยชน์ รุ่งเรืองดังที่ปรารถนา
หาได้ทำให้เกิดประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งไม่
สรุปรวมความว่า ผู้ปรารถนาสมบัติอันเป็นทิพย์ ต้องทำ พูด คิดด้วยความซื่อตรง จริงใจ บริสุทธิ์ใจ และมุ่งหวังประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นประมาณ
พุทธะอิสระ
——————————————–