ถามมา ตอบไป

0
10
ถามมา ตอบไป
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๔
ถาม:
วิธีแก้และควบคุมอารมณ์พุทธจริต ในพระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างไร ?
ตอบ:
ก่อนที่จะรู้วิธีแก้ วิธีควบคุมอารมณ์พุทธจริต เราท่านทั้งหลายควรจักมาทำความรู้จักอารมณ์พุทธจริตให้แจ่มชัดกันเสียก่อน
ความขี้สงสัยไม่ปลงใจเชื่อในสิ่งใดง่ายๆ จนกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ ศึกษา พัฒนาตน ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อหน้าที่การงาน และกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่น เพราะสำคัญว่าตนเป็นผู้ฉลาดมากกว่าผู้อื่น
ด้วยเพราะพวกพุทธจริตมักจะมีอุปนิสัยทระนง เย่อหยิ่ง อวดดี และถือตัวถือตน มากกว่าคนอื่นๆ
วิธีแก้และควบคุมอารมณ์พุทธจริต พระบรมศาสดาทรงชี้ให้เห็นถึงความจริง เมื่อพิจารณาตามแล้ว จักทำให้ระงับอารมณ์ฟู ฟุ้ง ทระนง หยิ่งผยอง อวดดี ให้สลด สงบ ระงับ ด้วยการภาวนาถึงคุณเครื่อง ทำให้จิตสลด สงบ สังเวช ลดการถือตัวถือตน ด้วยกรรมฐาน ๔ อย่าง อันได้แก่
๑. มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตาย ว่าเป็นสมบัติสาธารณะ แม้ว่าไม่อยากได้ แต่เมื่อถึงเวลา มรณะสมบัตินั้นก็ต้องมาถึงอยู่ดี
ทั้งยังไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกอาการตาย และก็ไม่เว้นแม้สัตว์บุคคลทุกตัวตน ล้วนต้องตายทั้งนั้น
ความจริงดังกล่าว ล้วนเป็นเหตุที่จักหยิบยกมาพิจารณา เพื่อให้จิตสลด สงบ สังเวช ลดความถือตัวถือตนได้
สรุปความการพิจารณามรณานุสสติ ท่านให้พิจารณาความตายที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยเพราะว่า เซลล์ต่างๆ ในร่างกายนี้ล้วนเจริญเติบโต และเสื่อมคร่ำคร่า แก่ชรา แล้วก็ตายจริง
นอกจากนี้ยังให้ระลึกถึง ความตายที่เกิดแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น และนำมาพิจารณาเปรียบเทียบแก่ตนเอง
๒. อุปสมานุสติ การระลึกถึงพระนิพพานจนเป็นนิสัย เป็นความคุ้นเคย
นิพพาน คือ ความว่าง ในทุกสภาวธรรม เรียกว่า กายว่าง วาจาว่าง อารมณ์ว่าง จิตว่าง โลกว่าง
มองทุกอย่างให้ว่าง ไม่เว้นแม้แต่ตัวตน กายใจ ก็ต้องเห็นเป็นของว่าง เพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่น
๓. อาหาเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาให้เห็นถึงความปฏิกูล น่ารังเกลียดที่เกิดภายในกาย และนอกกาย ด้วยรูปร่างลักษณะด้วยสี ด้วยกลิ่น ด้วยถิ่นที่อยู่ และหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ทั้งหมดล้วนน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง
พิจารณาให้เห็นความน่ารังเกียจ ที่มีอยู่ในกายตน และกายที่ผู้อื่น สัตว์อื่น เพื่อจะได้ถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ทั้งในตนเองและผู้อื่น
๔. จตุธาตุธาตุวัฎฐานทั้ง ๔ คือ การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ในร่างกายตนและคนอื่น สัตว์อื่น ล้วนประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ
ธาตุดิน ที่มีลักษณะทรงตัว แข็งกระด้าง และนิ่มกระด้าง เช่น เส้นขน เล็บ ฟัน หนัง เส้นเอ็น กระดูก เป็นต้น
ธาตุน้ำ ที่มีลักษณะอ่อนไหว ไหลลื่น เอิบอาบ ซึมซาบ อยู่ได้ในทุกที่ เช่น น้ำเหลือง น้ำตา น้ำมูก น้ำลาย น้ำเลือด น้ำหนอง เป็นต้น
ธาตุลม ที่มีลักษณะโยกโคลนขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ อยู่ได้เพราะอาศัยเหตุปัจจัย เช่น ลมหายใจเข้าและออก ลมในช่องท้อง ลมในข้อกระดูก ลมในขึ้นเบื้องบน ลมลงเบื้องต่ำ และลมในลำไส้ เป็นต้น
ธาตุไฟ ที่มีลักษณะอุ่น ร้อน เคลื่อนไหลทั่วร่างกาย เช่น ไฟที่ช่วยย่อยอาหาร ไฟที่เผาผลาญร่างกายให้อบอุ่น และทรดโทรม ไฟที่ช่วยขับดันน้ำในร่างกายให้เคลื่อนที่
การพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายตนและกายผู้อื่น สัตว์อื่น ล้วนประกบอด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่รวมตัวกันอยู่ได้ก็ด้วยการอาศัยเหตุปัจจัย เช่น กรรม จิต อากาศ อาหาร อาการ อารมณ์ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยทำให้ธาตุทั้ง ๔ รวมตัวกันอยู่ได้
เมื่อใดที่ขาดเหตุ ขาดปัจจัยดังกล่าว ธาตุทั้ง ๔ ก็ต้องมีอันแตกสลาย พิจารณา เช่นนี้ จนจิตเกิดนิพพิทาญาณ เกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด คลายอุปาทานขันธ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน
และคลายความสงสัยในสรรพสิ่งทั้งหลาย จิตก็จักรวมตัว มีสติสัมปชัญญะ รู้จักเข้าใจตามความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง ความสิ้นสงสัยก็บังเกิดขึ้น
พุทธะอิสระ