ห้วข้อ : การทำบุญกฐินถูกหรือผิด ควรปฏิบัติอย่างไร (คลิปที่ 1)

0
42
@dhammasquare

ทำไมทางสำนักฯ งดรับ กฐิน ผ้าป่า?

♬ เสียงต้นฉบับ – Dhammasquare – ธรรมะสแควร์
ที่มาจาก : https://www.tiktok.com/@dhammasquare/video/7279386217848835329

๘ ตุลาคม ๒๕๖๗

ห้วข้อ : การทำบุญกฐินถูกหรือผิด ควรปฏิบัติอย่างไร (คลิปที่ 1)

พระ อ.ต้น : ทางสำนักฯ ไม่ได้ทำกฐิน ไม่ได้ทำผ้าป่ามา 20 ปีแล้ว และก็ไม่รับที่จะทำกฐิน เพราะว่ากฐิน ผ้าป่ามันเป็นเรื่องของการฟุ่มเฟือยเรื่องการใช้เงินมากเกินไป

************************

คิดต่างหน่อยนะจาน

จานบอกว่า บวชมา ๒๐ ปี ไม่รับกฐินเลย แสดงว่าจานหรือสำนักที่จานอยู่จำพรรษา มีพระภิกษุไม่ถึง ๕ รูปหรือไม่ จานก็ยังไม่ได้สมมุติสีมา จึงยังไม่สามารถทำสังฆกรรมใดๆ ได้ หรือไม่ก็จานก็สวดอุปโลกน์กฐินไม่เป็น หรือไม่จานก็ไม่เห็นพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอยู่ในสายตา เรียกว่าไม่เอื้อเฟื้อพระวินัย ไม่เอื้อเฟื้อต่อเพื่อภิกษุที่จำพรรษาร่วม

หรือไม่ก็คือไม่มีใครเขาถวาย เพราะไม่ศรัทธาหรือเขาอาจเห็นว่ายังไม่ได้เป็นวัด ไม่มีการสมมติสีมาตามหลักพระวินัย จึงไม่ได้นำกฐินไปถวาย

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอนำวิธีสมมติสีมา มาบอกให้จานและสาวกได้รับทราบก็แล้วกัน

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ เรื่อง สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมา

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า ความพร้อมเพรียงมีเพียงชั่วอาวาสเดียวเท่านั้น แล้วได้มีความปริวิตกต่อไปว่า อาวาสหนึ่งกำหนดเพียงเท่าไร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงสมมติสีมาอย่างนี้:-

ชั้นต้นพึงทักนิมิต คือ ปัพพตนิมิต (นิมิตคือภูเขา) ปาสาณนิมิต (นิมิตคือแผ่นหิน) วนนิมิต (นิมิตคือป่า) รุกขนิมิต (นิมิตคือต้นไม้) มัคคนิมิต (นิมิตคือหนทาง) วัมมิกนิมิต (นิมิตคือจอมปลวก) นทีนิมิต (นิมิตคือแม่น้ำ) อุทกนิมิต (นิมิตคือน้ำ) ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น. นี้เป็นญัตติ.
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมา ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น. การสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด.

สีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้นชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง. ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.

ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์คิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติสีมาแล้ว จึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง ๖ โยชน์บ้าง. ภิกษุทั้งหลายจะมาทำอุโบสถ ย่อมมาถึงต่อเมื่อกำลังสวดปาติโมกข์บ้าง. มาถึงต่อเมื่อสวดจบบ้าง แรมคืนอยู่ในระหว่างทางบ้าง จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาใหญ่เกินถึง ๔ โยชน์ ๕ โยชน์ หรือ ๖ โยชน์ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมามีประมาณ ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง.

ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ. ภิกษุทั้งหลายจะมาทำอุโบสถ ถูกน้ำพัดไปก็มี บาตรถูกน้ำพัดไปก็มี จีวรถูกน้ำพัดไปก็มี จึงพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาคร่อมแม่น้ำ รูปใดสมมติ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติสีมาคร่อมแม่น้ำที่มีเรือจอดประจำหรือมีสะพานถาวร เท่านั้น

เหล่านี้คือวิธีสมมติสีมา ที่องค์พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้หมู่ภิกษุสงฆ์ช่วยกันกระทำ ไม่รู้ว่าคนผู้อ้างว่า บรรลุโสดาสอย่างจานจะได้เคยร่ำเรียนมาบ้างหรือเปล่า

แต่ถ้าไม่มีข้อจำกัดดังที่กล่าวมา แล้วอยู่ดีๆ จานบอกไม่รับกฐิน ทั้งที่มีบุพกิจครบถ้วน เช่นนั้นจานก็ควรถอนผ้าเหลืองกลับไปอยู่บ้านเถิด เพราะแสดงว่า จานไม่ยอมรับพระธรรมวินัยนี้

************************

จานต้น : บางคราวมันไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการนั้น แบบประโยชน์มันไม่ได้อยู่ตรงนั้นโดยส่วนเดียวนะ มูลเหตุของกฐินเนี่ยเพราะภิกษุหาผ้ายากมากในครั้งพุทธกาล มูลเหตุของการทำผ้าป่าพระก็ต้องไปหาผ้าตามป่า ตามซากศพ เขาเรียกว่าผ้าบังสุกุลจีรวานิ บังสุกุลจีวร
เมื่อไปหาผ้าตามซากศพตามป่าพระภิกษุไปยากก็อนุญาตให้ญาติโยมเอาผ้ามาถวายได้ แบบผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ภิกษุสามารถไปเอามาได้ ไปหยิบมาได้ ผ้าป่า

************************

คิดต่างนะจาน

พระภิกษุที่เขาร่วมจำพรรษาอยู่กับจานนะ เขาไม่ได้รับเงินรับทองที่มาร่วมกองกฐินด้วยดอกจาน เพราะเงินทองทรัพย์เหล่านั้นมันเป็นของวัด อยู่ในความดูแลบริหารจัดการของเจ้าอาวาส และคณะกรรมการ

พระที่จำพรรษาด้วยเขาเพียงแค่ต้องการอานิสงส์ของกฐิน ตามพระธรรมวินัยเท่านั้น คือ

1. ไปไหนไม่ต้องบอกลา
2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน
3. ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)
4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ
5. จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

************************

จานต้น : กฐินก็เหมือนกัน ก็เนื่องจากว่าภิกษุมีความฝืดเคืองในการแสวงหาผ้าจีวร พระองค์ก็เลยอนุญาตไว้ แต่ทุกวันนี้ผ้าจีวรมีเต็มไปหมดแล้ว ผ้านี่กองกระตั๊กเต็ม ไม่ต้องกลัวว่าพระจะอดอยากเรื่องผ้าจีวร มีเยอะแล้ว ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็น

************************

คิดต่างหน่อยนะจาน

จานมัวเมาอารมณ์อยู่หรือ ทุกวัดในประเทศนี้เขาก็มีผ้าเหลือเฟือมากมาย แต่ที่เขาต้องรับผ้ากฐินก็เพื่อ เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ที่องค์พระบรมศาสดาบัญญัติไว้ ให้คงตั้งมั่นอยู่

ถ้าพระภิกษุทุกองค์ในประเทศนี้คิดพิเรนทร์อย่างจาน แล้ววันข้างหน้าจะยังมีพระธรรมวินัยให้ได้ปฏิบัติ ได้รู้กันอยู่ไหม คิดซิคิด

อย่าพูดเพื่อเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น ผ้าป่านะ เขาทอดทั้งปี ไม่จำกัดเวลาด้วยซ้ำ แต่กฐินพระพุทธเจ้าทรงกำหนดเวลาให้ทอดถวายกันได้โดยมีข้อบังคับตามพระวินัยที่กำหนด ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นเช่น

1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

2. จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป

3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน แต่โบราณเขานิยมถวายผ้ากฐินเป็นผ้าดิบสีขาว เมื่อพระรับผ้ากฐินนั้นมาแล้ว ก็จะทำการตัดผ้า เย็บ ย้อม ให้เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในผ้าไตรจีวร แล้วจึงอุปโลกน์เป็นกฐิน

4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้

5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษาตั้งแต่1รูปขึ้นไป และจะใช้5รูปขึ้นไปในการกรานกฐินในโบสถ์เท่านั้น

6. จำกัดเวลาและจำนวนครั้ง คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง

************************

จานต้น : กฐินก็เหมือนกัน ก็เนื่องจากว่าภิกษุมีความฝืดเคืองในการแสวงหาผ้าจีวร พระองค์ก็เลยอนุญาตไว้ แต่ทุกวันนี้ผ้าจีวรมีเต็มไปหมดแล้ว ผ้านี่กองกระตั๊กเต็ม ไม่ต้องกลัวว่าพระจะอดอยากเรื่องผ้าจีวร มีเยอะแล้ว ฉะนั้น ไม่มีความจำเป็น มันเป็นการเปิด…คล้ายๆ ว่าเปิดทางใช้คำว่ากฐินและผ้าป่าในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกฐินและผ้าป่า ซึ่งเราก็รู้ดีว่าเรื่องอะไร

************************

คิดต่างนะจาน

โถ..ถัง กะละมัง รั่ว จานทำไมไม่บอกโยมเขาไปหละว่า ไม่รับผ้าป่านะ เอาแต่ผ้ากฐิน แล้วไม่รับเงินทองด้วย หรือว่าจานกล้าที่จะบอกชาวบ้านไหม ปากก็บอกไม่อยากรับเงินทอง ถามจริงเถิด มีวัดไหนในประเทศไทยบ้างที่ไม่มีเงินทองกัน แล้วสำนักจานก็ไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียวหรือ
แล้วเอาเงินที่ไหนไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าสารพัดจิปาถะ

จานเอามาจาไหนถ้าไม่รับเงินทอง อย่าพูดให้โลกดูสวย แต่แท้จริงแล้วตัวเองก็ทำไม่ต่างจากคนอื่นๆ หรือเหตุที่จานไม่รับกฐิน เพราะสวดอุปโลกน์กฐินไม่เป็น แต่พระที่เขารู้ธรรม รู้วินัย เขาต้องการอานิสงส์ของการรับกฐินนี่จาน

จานอย่าเอาแต่ความคิดตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ไม่เอื้อเฟื้อต่อหมู่ภิกษุสงฆ์ และยังจะมีหน้ามาสอนว่า อะไรถูก อะไรผิดอยู่ได้กระนั้นหรือ

************************

จานต้น : และนั่นแหละคือ โทษและสิ่งที่เป็นบาป พระอาจานจึงไม่รับกฐิน ไม่รับผ้าป่า เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

************************

คิดต่างนะจาน

ทำไมจานไม่บอกชาวบ้านทั่วไปหละว่า รับแต่ผ้ากฐิน แต่ไม่รับปัจจัย

เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปฏิเสธการรับกฐินได้ด้วยหรือ มีพระวินัยข้อไหนบอกไว้ เว้นเสียแต่ว่า ผ้ากฐินนั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธานุญาตที่ทรงบัญญัติไว้ ๒๔ ประการคือ

  • – ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา (หมายถึง ภิกษุไปแจ้งแก่ชาวบ้านว่า จะเอาผ้าชนิดนั้น ชนิดนี้)
  • – ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา (หมายถึง พระภิกษุในอาวาสนั้นๆ ไปชักชวนให้ชาวบ้านเข้ามาทอดกฐินให้แก่วัดของตน)
  • – ด้วยผ้าที่ยืมเขามา
  • – ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน (หมายถึง เมื่อได้รับผ้าจากทายกมาแล้ว แต่พระสงฆ์ในอาวาสนั้น กลับปล่อยปละละเลยไปช่วยกันทำกฐิน กิจนั้นๆ ให้สำเร็จภายในวันเดียว)
  • – ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ (หมายถึง ผ้านั้นภิกษุในอาวาสนั้น เคยเก็บเอาไว้จนต้องอาบัติ แล้วจะนำมาฟอกย้อมให้เป็นผ้าใหม่ เพื่อถือเป็นผ้ากฐิน)
  • – ด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ (หมายความว่า เมื่อทำการอุปโลกน์กฐินแล้ว แต่ภิกษุผู้ถือครองผ้านั้น ไม่ทำเครื่องหมายให้ชัดเจนในผืนผ้า)
  • – ด้วยอาการเพียงมีรอยขีด (หมายความว่า การทำพินทุอธิษฐาน ต้องวงกลมให้เป็นเครื่องหมายใหญ่เท่ากับแววตาจองนกยูง จะทำเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้)
  • – ด้วยอาการเพียงซักผ้า (หมายความว่า ผ้ากฐินที่ได้รับมาจะต้องตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วน อย่าทำลวกๆ)
  • – ด้วยอาการเพียงกะผ้า (หมายความว่า จะตัดเย็บผ้ากฐินที่ได้มาต้องให้ได้ขนาดตามมาตราฐานที่พระบรมศาสดาทรงกำหนด)
  • – ด้วยอาการเพียงตัดผ้า (หมายความว่า ผ้าที่จะตัดนั้น ต้องคำนวณ วัดให้พอดีกับความต้องการใช้ และตรงต่อพุทธานุญาต)
  • – ด้วยอาการเพียงเนาผ้า (หมายความว่า แย็บแบบลวกๆ)
  • – ด้วยอาการเพียงเย็บผ้า (หมายความว่า เย็บผ้าให้มันเสร็จๆ ไปโดยไม่คดจะนำมาครองใช้)
  • – ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม (หมายความว่า เย็บแต่จุดใดจุดหนึ่งของผ้า ในกฐินนั้น ซึ่งใช้งานจริงไม่ได้)
  • – ด้วยอาการเพียงทำรังดุม (เช่นเดียวกับข้อบน)
  • – ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต (หมายความว่า ทำเพียงแค่เย็บขอบผ้า หรือชายผ้าเฉยๆ)
  • – ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า (เช่นเดียวกันกับข้อบน)
  • – ด้วยอาการเพียงดามผ้า (หมายความว่า ทำแค่เอาผ้ามาคลี่ดูเฉยๆ)
  • – ด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น (ความหมายอยู่ในข้อความแล้ว)
  • – เว้นจากสังฆาฏิ , เว้นจากอุตตราสงค์ , เว้นจากอันตรวาสก (คือไม่ทำทั้ง ๓ ผืน แต่ให้เลือกผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องใช้มาทำ)
  • – เว้นจากจีวรมีขันธ์๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น (หมายความว่า จีวรก็ดี สบงก็ดี สังฆาฏิก็ดี ล้วนมีช่องตารางเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า นำผ้าผืนเล็กๆ มาต่อกัน แต่ต้องไม่ถึง ๕ ช่อง เช่น การที่มีภิกษุบางรูปในยุคนี้ ทำตนเป็นผู้สมถะ ด้วยการนำเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาเย็บเป็นจีวร ดุจดังชุดของคนขอทาน เช่นนี้ก็ถือว่าต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

เพราะเว้นจากบุคคลกราน (หมายความว่า การรับผ้ากฐินต้องมี ๔ รูปเป็นองค์สงฆ์ อีก ๑ รูป ต้องเป็นคนสวดกรานกฐิน ฉะนั้น วัดแต่ละวัดจึงต้องมีพระจำพรรษาไม่ต่ำกว่า ๕ รูป ไงหละ)

ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น (การสวดกรานกฐินและการอนุโมทนา ภิกษุทั้งหมดในอาวาสนั้น ต้องมาประชุมพร้อมกันในเขตสีมา หรือโบสถ์ แต่ละองค์นั่งห่างกันไม่เกิน ๑ ศอก หรือ ๑ หัตถบาส)

ไม่รู้เขียนอธิบายมาเสียยืดยาวขนาดนี้ โสดาต้นผู้ไม่เคยรับกฐินมา ๒๐ ปี เขาจะรับรู้ได้บ้างหรือไม่ว่า ทั้งหมดนี้เป็นวินัยกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้น

เขาจะเข้าใจไหมเนี่ย กูหละเหนื่อย หากไม่มาวุ่นวายกับพระธรรมวินัย อันเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา ไก่กาอย่างพุทธะอิสระก็คงไม่ต้องมานั่งเสียเวลาเขียนอธิบายขยายความเป็นหลายหน้ากระดาษเช่นนี้ดอก

คิดว่าโสดาต้นและสาวกจักอ่านรู้เรื่องบ้าง ไม่มากก็น้อย

พุทธะอิสระ

——————————————–

ที่มาจาก : https://www.tiktok.com/@dhammasquare/video/7279386217848835329

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid035F3uqbd6vyxjFnjAaFspAAbPoJVNj18QpB9TKmTHot3AxDLRsJjNn3DSaSiEajpQl