คำถาม : แม่แฟนหนูเขามาชวนทำบุญกฐิน แต่หนูปฏิเสธ แม่แฟนก็ยื่นซ่องกฐินที่ใส่เงินแล้วให้หนูยกมือไหว้ เพื่ออนุโมทนา แต่หนูไม่ทำ แม่แฟนหนูเขาก็แสดงกริยาไม่พอใจ แบบนี้หนูควรทำอย่างไรดี

0
26

๗ ตุลาคม ๒๕๖๗

คำถาม :

แม่แฟนหนูเขามาชวนทำบุญกฐิน แต่หนูปฏิเสธ แม่แฟนก็ยื่นซ่องกฐินที่ใส่เงินแล้วให้หนูยกมือไหว้ เพื่ออนุโมทนา แต่หนูไม่ทำ แม่แฟนหนูเขาก็แสดงกริยาไม่พอใจ แบบนี้หนูควรทำอย่างไรดีคะ

ตอบ :

มองตามคำถามของผู้คนในสังคมพุทธ ซึ่งเขามี เขาทำกันมาเป็นพันๆ ปี จนเป็นธรรมเนียม

การที่มีญาติผู้ใหญ่หรือมิใช่ญาติและมิใช่เป็นผู้ใหญ่มาชวนให้เราทำดี ทำบุญ ทำกุศล ถือว่าท่านผู้นั้น เขาเหล่านั้นเป็นผู้บอกทางสวรรค์ให้แก่เรา เอื้อประโยชน์แก่เรา ตามหลักคำสอนในสัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภายหน้า

เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

การที่ญาติฝ่ายแฟนของหนูมาชวนให้หนูร่วมทำบุญกฐินหรือร่วมอนุโมทนา จึงถือว่าญาติผู้นั้นของหนูเขาหวังดี เอ็นดู ต้องการให้หนูได้มีชีวิตอยู่และชีวิตหลังความตายได้ประโยชน์ให้ครบถ้วน

อีกทั้งในหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ในสามัญญผลสูตร ในพระสุตตันตปิฎก [เล่มที่ 45] ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ – หน้าที่ ๓๘๙ เรื่อง ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา

แต่หนูกลับปฏิเสธที่จะร่วมอนุโมทนาในประโยชน์ที่ญาติแฟนคุณพยายามหยิบยื่นให้ ช่างน่าเสียดายยิ่งนัก

อีกทั้งกฐินทานเป็นทานที่ถือว่าเป็นพิเศษกว่าทานอื่นๆ ด้วยเพราะเป็นพุทธานุญาตไว้ในวินัย

*******************

ความเป็นมาของกฐิน

ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

1. ไปไหนไม่ต้องบอกลา

2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน

3. ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ

5. จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้

1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

2. จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป

3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้

5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษาตั้งแต่1รูปขึ้นไป และจะใช้5รูปขึ้นไปในการกรานกฐินในโบสถ์เท่านั้น

6. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง

อานิสงส์ของการทอดกฐิน

1. เป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ

2.เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชา และอามิสบูชาส่วนหนึ่ง

3.สืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ซึ่งบรรพบุรุษนำสืบต่อกันมามิขาดสาย

4.การทอดกฐินเป็นการถวายทานโดยมิเจาะจงบุคคลโดยเฉพาะ แต่ถวายแก่หมู่สงฆ์เป็นส่วนรวมจึงเข้าลักษณะเป็นสังฆทาน ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ว่ามีผลานิสงส์มาก

5.การร่วมบำเพ็ญกฐินทาน เป็น “กาลทาน” คือเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษ

6.ในการทอดกฐิน ส่วนใหญ่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของคนจำนวนมากเพื่อสร้างความดีงาม จึงเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

*********************

การที่แม่แฟนหนูเขามาชวนให้หนูร่วมบุญกฐิน ก็ด้วยเพราะหากจะว่ากันตามพระวินัยแล้ว แต่ละวัดปีหนึ่งสามารถรับกฐินได้ครั้งเดียว หลังจากมีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป ขึ้นไปเท่านั้น จึงจะรับกฐินได้

และผ้ากฐินทานนั้นก็ถวายหรือมีได้แก่ ๑ เดียว แต่พระบางวัดมีจำนวนถึง ๓๐ รูป บางวัด ๕ รูป บ้างวัด ๑๐ รูป

เมื่อผ้ากฐินมีแค่ผืนเดียว ซึ่งจะเป็นสบง หรือจีวร หรือสังฆาฏิก็ตาม พระทั้งวัดก็ใช้วิธีอนุโมทนากฐิน เรียกวิธีนั้นว่า กรานกฐิน จึงจะได้รับอานิสงส์ของกฐินทั้ง ๕ ประการ ตามพุทธานุญาต

ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าภาพกฐิน หรือเจ้าของผ้ากฐิน แค่ผืนเดียวนั้น ก็มีจิตใจกว้าง ดีงาม อยากให้พุทธบริษัท ญาติ บริวาร มีส่วนร่วมในผ้ากฐินนั้น จึงเป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม จึงมีการเรียกกฐินนั้นว่า กฐินสามัคคี

ชื่อมันก็บอกแล้วว่า กฐินสามัคคี หนูคิดว่าประเทศนี้ โลกนี้ สังคมนี้ หมู่บ้านนี้ ถ้าทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี มันจะผิดบาปตรงไหน และการที่บอกบุญให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม นอกจากจะเป็นการแบ่งปันประโยชน์ของตนแก่ผู้อื่นแล้ว ยังจะแบ่งปันประโยชน์ให้แก่วัด สถานปฏิบัติธรรม และพระศาสนวัตถุ ศาสนทายาท เพื่อนำเอาปัจจัยและสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นบริวารกฐิน ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ทั้งยังเป็นการอนุเคราะห์แก่หมู่พระภิกษุสงฆ์องค์เณรต่างๆ

ให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควรแก่สมณสารูป

ส่วนไอ้ใครที่มันสอนว่า วัดอาตมาไม่เคยรับกฐินมา ๒๐ ปีแล้ว ก็ต้องไปตามดูว่าในวัดนั้น มีพระจำพรรษาอยู่กี่รูป ครบตามจำนวนที่พระวินัยอนุญาตไว้หรือไม่

หากครบแต่ไม่รับกฐิน ก็ต้องไปตามดูว่า ภิกษุผู้จำพรรษาในอาวาสนั้นเวลาเดินทางออกจากวัด นำบริขารจำเป็นที่ตนนำออกมาจากโบสถ์ตอนบวชติดตัวไปด้วยหรือไม่

หากนำติดตัวมาทุกครั้ง ภายในเวลาที่วินัยกำหนด ก็ไม่ผิด ไม่อาบัติ(ช่วงเข้าพรรษา ชุดไตรจีวรครองต้องครองอยู่ใกล้ตัวแค่มือเอื้อมถึงจนกว่าฟ้าสางหรือเห็นรายมือ ถ้าฟ้าสางแล้วชุดไตรครองไม่ได้อยู่ใกล้ตัว ตัวชุดนั้นจะขาดครองต้องถวายให้องค์อื่น ถ้าเอามาใส่ต่อจะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์)

แต่หากไม่รับกฐินหลังจำพรรษาแล้วออกจากวัด ไม่นำบริขารติดตามตัวไป ก็ถือว่า ขาดครองบริขาร หากใช้บริขารนั้นๆ อยู่ก็เป็นอาบัติทุกวันทุกครั้งที่หยิบบริขารนั้นใช้

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒ ความว่า ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ วันหน้าจะนำเรื่องในพระวินัยปิฎกมาเล่าสู่กันฟังใหม่ และจะต่อท้ายแบบเจ็บๆ คันๆ แสบๆ กับเจ้าลัทธิอวดอุตริมนุสธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02qCfqPqHWQ57iuX1dhwYziZ2MZxS5w1PLz91q4v3h7CoT9c3JmXpz3EmdQXyQEqm8l