มหาปรินิพพานสูตร (ตอนที่ 5)

0
29

มหาปรินิพพานสูตร (ตอนที่ ๕)
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระบรมศาสดาทรงตรัสเตือนหมู่สงฆ์ให้เล่าเรียนพระธรรม ด้วยจุดมุ่งหมายยังพรหมจรรย์นี้ให้ยั่งยืน เพื่อประโยชน์แก่ชนทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุขของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

***************************

สัมมัปปธาน ๔ หรือ ปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบหรือความเพียรอันใหญ่มี ๔ ประการ คือ

สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

***************************

อิทธิบาท ๔

อิทธิบาท หมายถึง ข้อปฏิบัติหรือหลักปฏิบัติให้ถึงซึ่งความสำเร็จมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งที่ทำ

๒. วิริยะ ความพยายาม ขยันหมั่นเพียรทำในสิ่งนั้นๆ ให้ต่อเนื่อง

๓. จิตตะ ความเอาใจจดจ่อ จับจ้องอยู่กับสิ่งที่ทำ ให้จริงจังต่อเนื่อง

๔. วิมังสา ความใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผล ถูกผิด ควรไม่ควร ให้ชัดเจนถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม

***************************

อินทรีย์ ๕

อินทรีย์ ๕ คือ การตั้งมั่นด้วยจิตอันประกอบด้วยกิริยาจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการ เพื่อความเจริญในธรรมและการงาน คือ

1. สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส

2. วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายามอันชอบ

3. สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้ ระลึกชอบ

4. สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้มีสมาธิชอบ

5. ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในปัญญาหรือการรู้แจ้งในความจริงอันประเสริฐ

***************************

พละ ๕

พละ ๕ คือ กำลังห้าประการ อันได้แก่

– ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังแห่งความเชื่อ ความศรัทธา

– วิริยะพละ ความเพียร กำลังแห่งความเพียรพยายาม

– สติพละ ความระลึกได้ กำลังแห่งสติ ระลึกได้

– สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังแห่งใจที่ตั้งมั่นอยู่ในศรัทธา ความเพียรและการมีสติ

– ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังแห่งความรู้ที่เกิดจากปัญญาญาณใคร่ครวญ พิจารณาโดยแยบคายดีแล้ว

เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์ 5 คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ พละ 5 เป็นธรรมที่กำจัดแก้อกุศลนิวรณ์ อินทรีย์เป็นธรรมเสริมสร้างกุศลอิทธิบาท

อกุศลนิวณ์ คือ อกุศลที่กางกั้นไม่ให้ความดีเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรม มี ๕ ประการ คือ

– ความติดข้องยินดีพอใจในกาม

– ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ

– ความง่วงเหงาหาวนอน ท้อแท้ท้อถอยเซื่องซึม

– ความฟ้งซ่านรำคาญใจ

– ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม

***************************

โพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ระลึกอยู่อยู่กับกิจที่ทำ ที่พูด ที่คิด

๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ความเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสมสำหรับจริตของคน

๓. วิริยะสัมโพชฌงค์ ความเพียร ตั้งมั่นอยู่ในการงานหรือธรรมที่ปฏิบัติ

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มใจ

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจ

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง

ลูกรัก โพชฌงค์ทั้ง ๗ สำหรับพ่อแล้ว คือ

การมีสติ พิจารณาธรรม เลือกเฟ้นธรรม ปฏิบัติธรรมนั้น ด้วยความเพียร จนเกิดผล เป็นความอิ่มใจ สงบใจ ความอิ่มใจ สงบใจตั้งมั่น แล้ววางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง

***************************

มรรคมีองค์ ๘

มรรค คือ ทางที่ดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์ หรือ หลักปฏิบัติ ๘ ประการ เพื่อให้ทุกข์ดับ อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘

๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้น คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น
เห็นกรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว ต้องให้ผลแก่ผู้ทำกรรมนั้นๆ เสมอ เห็นอริยสัจทั้ง ๔ และเห็นว่า สรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุล้วนตกอยู่ในความจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริง

๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือคิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และไม่ทำการงานใดๆ ที่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น และต้องไม่เบียดเบียนตน

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เว้นขาดจากอาชีพทุจริตทั้งปวง แล้วประกอบอาชีพในทางที่สุจริต

๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรทำกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

๗. สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เสมอ

๘. สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จนสามารถเป็นอิสระจากอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า อุเบกขารมณ์ จนบรรลุฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับ

***************************

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง … ฯ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0ZaH9E3RgkExjLxpPmz5qkn2TTgfqnV948p3iKwNq3RLwQYD42rz27x13q6cDrfB7l