พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๕
๓๐ เมษายน ๒๕๖๗
หลังจากพระสารีบุตรให้บรรพชาสามเณรราหุลแล้ว พระมหากัสสปะเถระ ก็นำตัวไปยังสำนักของท่านเพื่อสั่งสอนจริยาของสมณะผู้สงบ ว่าสิ่งใดควรทำได้ สิ่งใดมิควรทำ แล้วถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร จะมีผลกรรมตอบสนองอย่างไร
สามเณรราหุลเป็นผู้ใฝ่เรียนสงสัยในสิ่งที่ควรสงสัย แล้วมักจะมีคำถามมาไต่ถามพระมหากัสสปะและพระสารีบุตรอยู่เนื่องๆ
กาลต่อมา ถึงเวลาที่สามเณรราหุลพร้อมที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้ครึ่งพรรษา ท่านได้พักอยู่ที่ป่าอันธวัน เขตพระนครสาวัตถี (พระสารีบุตร เป็นอุปัชฌาย์)
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้ทรงตรึกในพระหฤทัยขึ้นอย่างนี้ว่าราหุลมีธรรมที่บ่มทางวิมุตติจนแก่กล้ามากแล้ว ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นในกาลนี้เถิด
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้วได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า
ดูกรราหุล เธอจงถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน
ท่านพระราหุลทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์
ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยทราบว่า
วันนี้ องค์พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่าน พระราหุลให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น พวกเราควรไปร่วมสดับฟังธรรมอันเป็นมงคลนั้น
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่าอันธวันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่ท่านพระราหุลแต่งตั้ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งแม้ท่านพระราหุลก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พอทรงประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน
จักษุ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
จักษุวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
จักษุสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
โสตะ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
ฆานะ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
ชิวหา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
กาย เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
มโน เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
ธรรมารมณ์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
มโนวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
มโนสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า
เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ
เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่ จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรานั่นเรา นั่นอัตตาของเรา
ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ดูกรราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ…แม้ในรูป …แม้ในจักษุวิญญาณ…แม้ในจักษุสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ …แม้ในเสียง …แม้ในฆานะ แม้ในกลิ่น แม้ในชิวหา…แม้ในรส …แม้ในกาย…แม้ในโผฏฐัพพะ …แม้ในมโน …แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ…แม้ในมโนสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณทัศนะหนึ่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้วและทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว จิตของท่านพระราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น และเทวดาหลายพันตนนั้นได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
——————————————–