ประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี (ตอนที่ ๓)
๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ นางภัททา ได้คิดอุบายจนสามารฆ่าโจรสัตตุกะผู้เป็นสามีได้แล้ว แต่ไม่กล้าที่จะกลับบ้าน เพราะรู้สึกอับอายที่ลุ่มหลงในกามคุณ จึงได้ไปยังอารามของพวกนิครนถ์ขอบรรพชากะพวกนิครนถ์
นางเรียนศิลปะทุกอย่างในที่ที่ตนบวชจนหมดสิ้นความรู้ของผู้เป็นอาจารย์แล้ว ครั้นเมื่อพิสูจน์ได้ว่าคุณวิเศษยิ่งกว่านี้ของพวกนิครนถ์ไม่มีมากไปกว่านี้แล้ว นางจึงเที่ยวไปยังตามนิคมราชธานีที่เขาร่ำลือกันว่ามีบัณฑิตเพื่อร่ำเรียนศิลปวิทยาวิชาการจากบัณฑิตเหล่านั้น เมื่อรู้ทุกอย่างหมดสิ้นคำสอนของบัณฑิตเหล่านั้น แต่ก็หาได้ทำให้นางพึงพอใจต่อวิชาความรู้ดังกล่าวเหล่านั้นไม่
นางจึงออกตระเวนท้าทายกับใครก็ได้ที่มีความรู้อันสามารถเอาชนะแก่นางได้ นางจะยินยอมเป็นทาส ด้วยเพราะนางทะนงตนว่าเป็นผู้ได้ศึกษามามาก จนนางมองไม่เห็นใครผู้ใดที่สามารถจะโต้ตอบปัญหากับนางได้
ครั้นเมื่อนางเข้าไปสู่หมู่บ้านตำบลใดก็ดี นางกุณฑลเกสาก็จักทำกองทรายไว้ที่ลานกว้างกลางหมู่บ้านนั้นๆ แล้วปักกิ่งต้นหว้าไว้บนกองทรายนั้น พร้อมประกาศขึ้นในท่ามกลางฝูงชนว่า
ผู้ใดที่คิดว่า ตนมีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะโต้ตอบวาทะกับเราได้ ผู้นั้นจงเหยียบกิ่งไม้นี้ลงเสีย
จนเวลาล่วงเลยไปเป็นสัปดาห์ แม้ตลอดสัปดาห์นั้นก็หามีคนเหยียบไม่
ต่อมานางจึงถือเอากิ่งไม้นั้นหลีกไป
ในสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่กรุงสาวัตถี เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารอาราม
ฝ่ายนางกุณฑลเกสา เมื่อเดินทางไปตามนิคมชนบทต่างๆ จนมาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ
ครั้นเข้าไปสู่ภายในนครแล้ว ก็ปักกิ่งไม้หว้าเอาไว้บนกองทราย ณ กลางลานพระนครสาวัตถีนั่น แล้วประกาศท่ามกลางหมู่มหาชนว่า ในพระนครสาวัตถีนี้ หากมีบัณฑิตผู้ใดมีความรู้ความสามารถก็ขอเชิญมาประลองถามตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าพ่ายแพ้จักยินยอมตกเป็นทาสรับใช้ไปตลอดชีวิต หากสมัครใจจะท้าประลองก็จงเหยียบกิ่งไม้หว้านี้ให้ล้มลงเสีย
แต่เวลาล่วงเลยไปเป็นแรมเดือน ก็หาได้มีผู้ใดกล้าที่จะมาเหยียบกิ่งหว้าของนางไม่
นางจึงถึงกับประกาศในท่ามกลางหมู่ชนว่า
ณ สาวัตถีนี้ได้ชื่อว่า เป็นเมืองหลวงของนักปราชญ์ บัณฑิต แต่กลับไม่มีผู้ใดกล้าถามตอบปัญหาแก่นางได้ จนทำให้ผู้คนร่ำลือ ถึงความอหังการของนางไปทั่วพระนคร
ในสมัยนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์ต่างพากันแยกย้ายเข้าไปในพระนครแล้ว พระธรรมเสนาบดี (พระสารีบุตร) จึงเข้าไปสู่นครเพียงรูปเดียวเท่านั้น
ครั้นเห็นกิ่งต้นหว้าที่เนินทรายอยู่กลางลานพระนครเช่นนั้นจึงได้ถามหมู่ชนว่า
เพราะเหตุไร เขาจึงปักกิ่งต้นหว้านี้ไว้ พวกเด็กก็บอกเหตุนั้นโดยตลอด
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า นี่แน่ะ หนูทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอจงจับเอากิ่งต้นหว้านี้ออกมาเหยียบย่ำเสีย
บรรดาเด็กเหล่านั้น บางพวกฟังคำพระเถระแล้วไม่กล้าที่จะเหยียบย่ำได้ บางพวกก็เหยียบย่ำทันทีทีเดียว กระทำให้ แหลกละเอียดไป
นางกุณฑลเกสาบริโภคอาหารแล้วเดินออกไปตรวจดูที่กองทรายที่นางปักกิ่งหว้าไว้ พอนางเห็นกิ่งไม้ถูกเหยียบย่ำ จึงถามพวกเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่แถวนั้นว่า นี้เป็นการกระทำของใคร
พวกเด็กจึงบอกว่าเป็นการกระทำของพระธรรมเสนาบดีสั่งให้พวกข้ากระทำด้วยการเหยียบกิ่งไม้หว้าให้ล้มลง
นางจึงคิดว่า พระเถระนี้หากไม่รู้กำลังของตน ก็คงจักไม่กล้าให้พวกเด็กๆ เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้ พระเถระนี้จำต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่แน่นอน
ฝ่ายพระเถระกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งไม่ไกลจากลานพระนครสาวัตถีนัก
ในเวลานั้น นางกุณฑลเกสาได้ออกเดินป่าวประกาศเชิญชวนมหาชนไปชมความน่าละอายที่นางจักทำให้เกิดแก่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร
มหาชนจึงพากันมากับนางแล้วห้อมล้อมเดินไปยังสำนักของพระสารีบุตรเถระกระทำปฏิสันถารแล้ว นางจึงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พร้อมถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าให้เด็กเหยียบย่ำกิ่งไม้ที่ดิฉันปักเอาไว้กระนั้นหรือ
พระสารีบุตร – ใช่แล้ว เราให้เขาเหยียบย่ำเองแหละ
นาง – เมื่อเป็นเช่นนั้น แสดงว่าพระคุณเจ้าคงตั้งใจที่จะมาโต้วาทะกับดิฉันเช่นนั้นซินะ พระคุณเจ้า
พระสารีบุตร – ได้สิ น้องหญิง
นาง – ใครจะถามก่อนและใครจะตอบก่อนหละเจ้าคะ
พระสารีบุตร – ความจริงคำถามควรมีแก่เรา แต่ท่านจงถามสิ่งที่ท่านเชี่ยวชาญมาก่อนเถิด
นางกุณฑลเกสาจึงถามถึงสิ่งที่ลัทธิของนางสั่งสอนกันมาตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดทั้งหมด ทั้ง ๑,๐๐๐ ข้อ ตามที่พระเถระยินยอมให้ถามก่อน พระเถระจึงได้ตอบปัญหาแก้ได้หมดทุกข้อจนครบ ๑,๐๐๐ ข้อ
เมื่อนางถามแล้วถามอีก จนหมดสิ้นคำถามจึงได้นิ่งอยู่
ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะนางว่า น้องหญิงปัญหาที่จะถามเราหมดแล้วหรือ เช่นนั้น เราก็จะถามน้องหญิงสักข้อหนึ่ง
นางกุณฑล : ถามเถิด เจ้าข้า
พระสารีบุตร – ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร
นางกุณฑลเกสาเรียนว่า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า
พระสารีบุตร- เธอไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ แล้วเธอจักทราบอะไร อย่างอื่นมากกว่านี้เล่า
เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ได้ตอบปัญหาแก่นางกุณฑลเกสา ที่หลายปีไม่มีผู้ใดมีสติปัญญาสามารถตอบได้ แต่มาบัดนี้พระสารีบุตรกลับตอบได้อย่างง่ายดายโดยไม่ลังเล จึงทำให้นางกุณฑลเกสาเถรีต้องยอมศิโรราบ ถึงขนาดทำให้นางหมอบกราบลงแทบเท้าทั้งสองของพระเถระ พร้อมทั้งกล่าวว่า ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิตเจ้าข้า
พระสารีบุตร จึงกล่าวว่า เธออย่าได้ถือเราเป็นสรณะเลยน้องหญิง บุคคลผู้เลิศที่สุด ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกเหนือเรายังทรงประทับอยู่ที่วิหารใกล้ๆ นี่เอง เธอจงถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะเถิด
นางกุณฑลเกสาเถรี จึงกล่าวตอบว่า – ดิฉันจักกระทำเช่นนั้น เจ้าข้า
พอตอนเย็น ในเวลาที่พระศาสดาทรงออกแสดงธรรม นางกุณฑลเกสา จึงไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของนางดีแล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาคาถาภาศิตว่า:-
“สหสฺสมปิ เจ คาถา อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ คาถาปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ”
“หากคาถาหรือคำพูดที่ไม่ประกอบด้วยบทอันมีประโยชน์ แม้จะกล่าวตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาก็ตาม
ก็เทียบไม่ได้กับคาถาเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ยังประเสริฐกว่า ดังนี้”
ในเวลาจบพระคาถา นางก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง จึงทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงรับให้นางบรรพชาแล้ว นางไปยังสำนักภิกษุณีบวชเป็นพระภิกษุณีสืบไป
ในกาลต่อมาบรรดาหมู่ภิกษุสงฆ์ผู้เป็นปุถุชนทั้งหลายได้จับกลุ่มพากันสนทนาในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า นางภัททากุณฑลเกสาภิกษุณีนี้ สติปัญญาของนางช่างยิ่งใหญ่จริงหนอ บรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บทเท่านั้น
พระศาสดาทรงเสด็จมาสดับเข้าพอดีจึงทรงกระทำ เหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ (เหตุให้เกิดเรื่องแล้ว) ทรงสถาปนาพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกา ผู้ตรัสรู้เร็ว แล้วทรงยกเอาบุพกรรมในอดีตชาติของภิกษุณีกุณฑลเกสาขึ้นมาแสดงความว่า
ครั้งในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางกุณฑลเกสาเถรีบังเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหงสวดี ได้ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ขิปปาภิญญา(รู้ฉับพลัน)’ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้ได้มาซึ่งตำแหน่งนั้น
พระปทุมุตรพุทธเจ้าได้ตรัสกับนางว่า ‘นางผู้เจริญ ตำแหน่งใดที่เธอปรารถนาแล้ว ตำแหน่งนั้นทั้งปวงจักสำเร็จแก่เธอ เธอจงเป็นผู้มีสุขนิพพานเถิด ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก เธอไปเกิดเป็นบุตรของสกุลเศรษฐี มีนามว่ากุณฑลเกสี ผู้เจริญด้วยสติปัญญา และจักได้ เป็นธรรมทายาท จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
ได้ฟังเช่นนั้น นางยิ่งเกิดศรัทธา มีใจเบิกบานยินดีอย่างยิ่ง ตั้งจิตประกอบด้วย เมตตาธรรม บำรุงแด่พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ จนตลอดชีวิต
ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว นางจึงเวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดา อยู่ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์
จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น เกิดในภพใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
จุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินเสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นผู้อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้บังเกิดเป็นธิดาคนที่ ๔ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่าภิกขุทาสี
เมื่อได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา แต่พระราชบิดา มิได้ทรงอนุญาต พระนางจึงถือ ประพฤติพรหมจรรย์ ตลอดชีวิต เพลิดเพลินอยู่ด้วย การอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
ก็ด้วยกรรมดีและการตั้งจิตไว้มั่น นางได้เวียนว่าย ตายเกิดในเทวโลก เสวยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง
ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความเจริญในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อได้สดับการแก้ปัญหาของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จนบังเกิดศรัทธา ตามมาสดับพระธรรมเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียง ๔ พระคาถา คือ
คำพูดที่ไม่ประกอบด้วยบทอันเป็นประโยชน์
แม้จะกล่าวตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ คำพูด
ก็เทียบไม่ได้กับคำพูดที่เป็นประโยชน์
แม้คำพูดเดียวประเสริฐยิ่งกว่าดังนี้
จบแล้วจ้า
ประวัติพระภิกษุณีผู้ตรัสรู้เร็ว
พุทธะอิสระ
——————————————–
อ่านย้อนหลัง : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0qYyBpsThiad8Y2dMd4oNMWzyM56YCjde2YavozsFKuPoKuTBQYjLnEX2ceB5VyMUl