ประวัติพระกีสาโคตมีเถรี (ตอนที่ ๒)
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ บุตรของนางกีสาโคตมีล้มป่วยจนตาย แต่นางกีสาโคตมี มิยอมให้ญาติและบริวารนำไปเผา ด้วยเพราะนางคิดว่า บุตรชายของตนแค่นอนหลับ ไม่ยอมตื่นขึ้นเท่านั้น ด้วยเพราะนางไม่เคยเห็นความตายเกิดขึ้นในเรือนของนาง
นางจึงอุ้มบุตรใส่สะเอวเที่ยวเดินไปตามบ้านเรือนในพระนครแล้วพูดว่า ขอพวกท่านจงให้ยาปลุกแก่บุตรของเราให้ตื่นขึ้นมาด้วยเถิด
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง เห็นนางแล้วคิดว่า หญิงผู้นี้คงจะคลอดบุตรคนแรก ยังไม่เคยเห็นความตาย เราควรเป็นที่พึ่งของหญิงนี้ จึงบอกกล่าวแก่นางกีสาโคตมีว่า พระสมณโคดมทรงทราบ จงไปทูลถามพระองค์เถิด
นางจึงรีบอุ้มร่างบุตรชายเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่สุดข้างหนึ่ง ทูลถามว่า “ข้าแด่พระสมณโคดมผู้ประเสริฐ ทราบว่า พระองค์ทรงทราบยาเพื่อปลุกให้บุตรของหม่อมฉันหรือ? พระเจ้าข้า.”
พระพุทธองค์ตรัสด้วยพระอาการสงบว่า อย่างนั้นสีกา แต่ขอให้เธอจงไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาด มาหนึ่งกำมือเพื่อจะนำมาทำยา พร้อมทั้งทรงตรัสกำชับว่า เมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ได้มานั้นจะต้องเอามาจากบ้านเรือนที่ไม่มีใครตายเลยจึงจะทำยาได้
นางกีสาโคตมีอุ้มร่างลูกน้อยที่กำลังจะเน่าเที่ยวไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากชาวบ้านทุกครัวเรือน ไม่ได้แม้แต่เมล็ดเดียว เพราะบ้านที่ไม่มีใครตายเลยนั้นไม่มี ล้วนแต่เคยมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น นางเดินจนเข่าอ่อน ผมเผ้ายุ่งเหยิง ร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นละออง จนมอมแมม อีกทั้งศพของบุตรชายของนางก็เริ่มเน่าเหม็น เป็นที่รังเกียจของชนทั้งหลาย แต่ด้วยหัวใจของแม่ที่รักลูกสุดชีวิต นางก็ยังไม่ละความพยายามที่จักแสวงหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตาย
ครั้งเมื่อนางเดินหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดไปจนครบหมดทุกบ้านในนครสาวัตถี ด้วยความทุกข์ยากที่นางได้รับ นางจึง “คิดได้” ว่า “โอหนอ นี่มันเป็นเวรกรรมหนัก เราได้ทำให้แก่ตนเองด้วยสำคัญว่า ‘บุตรของเราเท่านั้นที่ตาย ทั้งที่ชนทั้งหลายในทุกครัวเรือน ล้วนได้ล้มตายกันทั้งนั้น ทั้งยังตายกันมากกว่าคนเป็นเสียอีก”
นางจึงได้บังเกิดธรรมสังเวชใจ แล้วอุ้มศพบุตรชายออกไปภายนอกนคร ไปสู่ป่าช้าผีดิบ แล้วใช้มือลูบหน้าบุตรชายแล้วพูดขึ้นว่า ลูกเอ๋ย แม่หลงเข้าใขผิดคิดว่าความตายนี้ มีเกิดขึ้นเฉพาะแก่เจ้าเท่านั้น เวลานี้แม่ได้รู้แจ่มชัดว่าความตายนี้ หาได้มีแก่เจ้าคนเดียวไม่ ควรมีอยู่แก่มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงเป็นธรรมดา เมื่อเจ้าตายแล้วก็จงอยู่ในที่ที่คนตายเขาอยู่กันเถิด
ดังนี้แล้ว นางจึงทิ้งลูกไว้ในป่าช้าผีดิบพร้อมกล่าวคาถาว่า :-
“สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ลูกและแม่นี้นี่แหละเรียกว่า ความไม่เที่ยง มิใช่ธรรมของใครผู้ใด ผู้หนึ่ง มิใช่ธรรมที่เกิดแก่เมืองใดเมืองหนึ่งเฉพาะ ทั้งมิใช่ธรรมที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะสกุลใดสกุลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่โลกทั้งหมด พร้อมทั้งเทวโลกด้วย”
เมื่อนางคิดอยู่อย่างนี้ หัวใจที่อ่อนล้า เศร้าโศกที่ต้องพลัดพราก จากบุตรอันเป็นที่รักยิ่ง ได้กลายกลับมาเป็นความรู้ชัดตามความเป็นจริง พร้อมๆ กับที่นางทิ้งบุตรไว้ในป่า ครั้นแล้วนางจึงเดินทางไปยังสำนักขององค์พระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน ณ ที่สุดข้างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า “กีสาโคตรมี เธอได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดมาหรือเปล่า”
นางโคตรมี ตอบว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า เหตุเพราะในบ้านของชนทั้งหลายในพระนครสาวัตถีทั้งสิ้น ล้วนมีคนตายกันทุกครัวเรือนแหละมากกว่าคนเป็น เสียด้วยซ้ำพระเจ้าข้า
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า
“ก่อนที่เธอจะมาหาเราตถาคตเธอเข้าใจว่า ‘บุตรของเธอเท่านั้นตาย’ ความตายนั่นเป็นธรรมอันยั่งยืนสำหรับสัตว์ทั้งหลาย ด้วยว่า ปัจจุราชฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมดแก่ผู้มีอัธยาศัยยังไม่เต็มเปี่ยมนั่นและลงในสมุทรคืออบาย ดุจห้วงน้ำใหญ่ฉะนั้น”
เมื่อจะทรงแสดงธรรมจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“มฤตยู ย่อมครอบงำพาชนผู้มัวเมาในบุตรและหมู่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีจิตติดข้อง ดิ้นรนไปในอารมณ์ต่าง ๆ ดุจดังห้วงน้ำใหญ่ พัดชาวบ้านผู้หลับใหลไปฉะนั้น”
ในกาลจบคาถา นางกีสาโคตมีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แม้ชนเหล่าอื่นเป็นมาก ที่ร่วมสดับพระพุทธธรรมเทศนา ต่างล้วนบรรลุเป็นอริยะ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
ฝ่ายนางกีสาโคตมีนั้นทูลของบรรพชากะพระศาสดาแล้ว นางทำประทักษิณพระศาสดา ๓ ครั้ง ถวายบังคมแล้วไปยังสำนักภิกษุณี นางได้อุปสมบทแล้วได้นามตามเดิมว่า “พระกีสาโคตรมีเถรี”
วันหนึ่ง นางถึงวาระในโรงอุโบสถ นั่งตามประทีปเห็นเปลวประทีปลุกโพลงขึ้นและหรี่ลง ได้ถือเป็นอารมณ์ว่า
“ชีวิตสัตว์ทั้งปวงล้วนเป็นดังดวงประทีป ที่ลุกโชติช่วงและริบหรี่ หวั่นไหว ดับไปในที่สุด ผู้ลุถึงพระนิพพาน ย่อมไม่ปรากฏความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ดังดวงประทีปนี้เลย”
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฏีนั่นแล ทรงแผ่พระรัศมีไปปรากฎเฉพาะหน้าของภิกษุณีกีสาโคตรมี แล้วทรงตรัสว่า
“ถูกแล้ว เป็นเช่นนั้นแหละโคตรมี สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเกิดและดับเหมือนเปลวประทีป คราใดเมื่อหมู่สัตว์เหล่านั้นถึงพระนิพพานแล้ว ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ย่อมไม่ปรากฏ ความเป็นอยู่แม้เพียงขณะเดียว ของผู้เห็นพระนิพพานประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพาน”
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
ผู้ใดไม่เห็นอมตบท แม้มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ไม่เทียบไม่ได้กับผู้มีชีวิตแล้วถึงอมตบทเพียงวันเดียว ย่อมประเสริฐกว่า
จบพระคาถา นางก็บรรลุอรหันต์ เป็นผู้เคร่งครัดยิ่งในการใช้สอยบริขาร ห่มจีวรประกอบด้วยความปอน ๓ อย่างเที่ยวไป
ต่อมาพระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีกีสาโคตรมีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่า พวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ดังนี้แล
ในกาลนั้นท้าวสักกะเข้าไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมกับเทวบริษัท ในที่สุดแห่งปฐมยาม ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ทรงสดับธรรมกถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
ในขณะนั้น นางกีสาโคตมีคิดว่า “เราจักเฝ้าพระศาสดา” เหาะมาทางอากาศแล้ว เห็นท้าวสักกะ จึงกลับไปเสีย (การเที่ยวไปกลางคืนเสมอ ๆ ภิกษุณีมิได้ประพฤติ) ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นนางผู้ถวายบังคมแล้ว กลับไป จึงทูลถามพระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า ภิกษุณีนั่นชื่อไร? พอมาเห็นพระองค์แล้วก็กลับ.”
พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร ภิกษุณีนั่น ชื่อกีสาโคตมี เป็นธิดาของตถาคต เป็นยอดแห่งพระเถรีผู้ทรงผ้าบังสุกุลอันเศร้าหมอง” ดังนี้ ตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“เราเรียกชนผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผู้ร่างกายที่ซูบผอม มองเห็นแต่เส้นเพ่งฌานอยู่ผู้เดียวในป่านั้นว่า เป็นพราหมณ์.”
ทีนี้เราท่านทั้งหลายลองมาตามดูอดีตชาติของมหาเถรีกีสาโคตรมีกันดูว่า ท่านได้บำเพ็ญบุญกุศลอะไรไว้ในอดีต
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางได้บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดแล้วตั้งความปรารถนาที่จักได้ตำแหน่งนั้น
นางเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ก็ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗
พระราชธิดาเหล่านั้น ในชาติปัจจุบัน คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗ ด้วยกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วนั้น และด้วยการตั้งอธิษฐานธรรม จนในชาติสุดท้ายของนางจึงได้สมปรารถนา ที่นางได้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้ได้เป็นผู้เลิศในด้านทรงจีวรอันเศร้าหมอง
พระชาดกเรื่องนี้ทำให้เราท่านทั้งหลายได้เห็นว่า อธิษฐานธรรมและวิริยะบารมี เป็นประดุจดังร่องน้ำหรือลำธาร แม่น้ำ อันเป็นที่รวมของกุศลน้อยใหญ่ จนนำพามหากุศลเหล่านั้น ไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ในที่สุด
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–