ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ 14)

0
36

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๑๔)
๑๗ มกราคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ นางวิสาขาได้เรียนรู้อนุสติทั้ง ๑๐ ประการจากองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงอาราธนาทูลเชิญพระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์ให้เสด็จไปรับภัตตาหารในเรือนของตนในวันรุ่งขึ้น

หลังจากนั้นนางวิสาขาจึงทูลขอพร ๘ ประการ เพื่อเอื้อต่อการฝึกหัดปฏิบัติในอนุสติทั้ง ๑๐

ครั้งนั้น องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถา

สตรีใด ให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่ได้แล้ว บริจาค
ทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก
นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรี
ผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อม
ปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา ให้แก่นางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่ประทับกลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร

แล้วทรงใช้ธรรมีกถาในการอนุโมทนานั้นเป็นเค้ามูล จึงทรงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราประทานพรทั้ง ๘ ประการคือ ข้ออนุญาตให้นางวิสาขาและบรรดาอุบาสก อุบาสิกา ถวายผ้าวัสสิกสาฎก ถวายอาคันตุกภัตรคมิกภัตร ถวายคิลานภัตร ถวายคิลานุปัฏฐากภัตร ถวายคิลานเภสัช ข้าวยาคูประจำ เราอนุญาตผ้าอุทกสาฎก สำหรับภิกษุณีสงฆ์ ให้นางวิสาขาและอุบาสก ถวายกาลทานแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ได้นับแต่นี้เป็นต้นไป

และด้วยผลทานที่นางวิสาขาและบริวารได้สั่งสมเอาไว้ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน เมื่อนางและบริวารได้ถึงกาลกิริยาลง จักได้อยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในอัตภาพนี้ ทั้งในชาตินี้นางก็ได้มาเกิดเป็นธิดาของธนญชัยเศรษฐีผู้เป็นบุตรแห่งมณฑกมหาเศรษฐี ๑ ใน ๕ ตระกูลใหญ่ของนครพาราณสี ทั้งนางยังได้ทำบุญเป็นอันมาก เมื่อมาอยู่ในนครสาวัตถี

ด้วยอานิสงส์ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกา และเพื่อนบริวาร ๕๐๐ คนได้ร่วมกันสร้างไว้ โดยนางวิสาขาสละเครื่องประดับนั้น ซึ่งมีราคาถึงเก้าโกฏิเจ็ดพันกหาปนะ สร้างปราสาทหลังใหญ่สมควรเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ ประดับด้วยห้องหนึ่งพันห้อง คือชั้นล่างห้าร้อยห้อง ชั้นบนห้าร้อยห้อง โดยที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจัดไว้อย่างดี น่าจับใจ งานไม้ที่น่ารื่นรมย์ก็ตกแต่งสำเร็จเป็นอย่างดีงานปูนก็พิถีพิถันทำอย่างดีน่าปลื้มใจ วิจิตรไปด้วยจิตรกรรมมีมาลากรรมลายดอกไม้ และลดากรรมลายเถาไม้เป็นต้นที่ประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม และสร้างปราสาทห้องรโหฐานหนึ่งพันปราสาทเป็นบริวารของปราสาทใหญ่นั้น และสร้างกุฎีมณฑปและที่จงกรมเป็นต้นเป็นบริวารของปราสาทเหล่านั้น ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสร้างวิหารเสร็จ เมื่อวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

นางวิสาขาใช้เงินฉลองวิหารถึงเก้าโกฏิกหาปนะ นางพร้อมด้วยหญิงสหายประมาณ ๕๐๐ คนขึ้นปราสาท ได้เห็นสมบัติของปราสาทนั้น ดีใจกล่าวกะพวกเพื่อนหญิงว่า

เมื่อฉันสร้างปราสาทหลังนี้งามถึงเพียงนี้ ขอเธอทั้งหลายจงอนุโมทนาบุญที่ฉันขวนขวายนั้น ฉันขอให้ส่วนบุญแก่พวกเธอ เพื่อนหญิงทั้งหมดมีใจเลื่อมใสต่างอนุโมทนาว่า อโห สาธุ อโห สาธุ ดีจริง ๆ ดีจริง ๆ.

บรรดาเพื่อนหญิงเหล่านั้น เพื่อนอุบาสิกาคนหนึ่งได้ใส่ใจถึงการแผ่ส่วนบุญให้นั้นเป็นพิเศษ
ต่อมาไม่นาน นางหญิงบริวารของนางวิสาขาได้ตายลงแล้วไปบังเกิดในดาวดึงส์ ด้วยบุญยฤทธิ์ของพวกนางได้ปรากฏวิมานหลังใหญ่ ยาวกว้างและสูงสิบหกโยชน์ ประดับประดาด้วยห้องรโหฐาน กำแพงอุทยานและสระโบกขรณีเป็นต้นมิใช่น้อย ล่องลอยอยู่ในอากาศ แผ่รัศมีของตนไปได้ร้อยโยชน์ เทพอัปสรทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้น แม้คิดจักไป ณ ทิศใด วิมานนั้นก็ลอยติดตามพวกนางไปด้วย

สำหรับมหาอุบาสิกาวิสาขา เหตุเพราะนางมีจาคะอันไพบูลย์และมีศรัทธาอันตั้งมั่นสมบูรณ์จึงไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ได้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช

กาลต่อมา ท่านพระอนุรุทธะได้เที่ยวจาริกไปบนเทวโลก เห็นบรรดาเพื่อนหญิงของนางวิสาขานั้นบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทราบว่านางวิสาขาบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ได้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช.

เมื่อท่านพระอนุรุทธะกลับมนุษยโลกแล้ว ได้กราบทูลเนื้อความที่ตนและเทพธิดาดังกล่าวพูดกัน ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงทำเนื้อความนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน พระธรรมเทศนานั้นได้เป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปุทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี

ต่อมา กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ยินดีในการถวายทาน จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น

นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป

ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗

พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗

บรรดาพระราชธิดาเหล่านั้น พระนางสังฆทาสีเวียนว่ายอยู่ใน เทวดาและมนุษย์ถึงพุทธันดรหนึ่ง

ในพุทธกาลนี้ นางวิสาขาเป็นธิดาของนางสุมนเทวี (สุมนาเทวี) (ภริยาหลวง) บิดาชื่อธนัญชัยเศรษฐี เป็นหลานของเมณฑกเศรษฐี และนางจันทปทุมา ผู้เป็นปู่ย่า ในภัททิยนคร แคว้นอังคะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02HHC86xLZworn5whGMh4qDdtAKLAWZg3X3miNWpBnot8smCmy82Wpq5sx95zBkqUVl