ประวัติพระมาลุงกยเถระ (ตอนที่ 5)

0
28

ประวัติพระมาลุงกยเถระ (ตอนที่ ๕)
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระอานนท์ทูอาราธนาให้องค์พระบรมศาสดาทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่างพิสดาร และวิธีละสังโยชน์ทั้ง ๕ นั้น องค์พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ได้ทรงแสดงสังโยชน์ทั้ง ๕ และวิธีละสังโยชน์ทั้ง ๕ นั้นดังนี้ว่า

ดูก่อนอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน

ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.

เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวผี เป็นดังลูกศร เป็นความลําบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่าธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกําหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้ เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมเป็นโอปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

ดูก่อนอานนท์ มรรคแม้นี้แลปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง.

ดูก่อนอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ก็ไม่มี เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามรรคนี้ ปฏิปทานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุตติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุตติเล่า.

ดูก่อนอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

ขยายความสิ่งที่พระอานนท์ทูลถวายองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความต่างกันถึงคุณธรรมแห่งพระอริยบุคคลแต่ละจำพวก ว่ามาจากเหตุใด

องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสแสดงถึงเหตุแห่งความแตกต่างกันของพระอริยบุคคลบางจำพวก ก็เพราะ อินทรีย์ทั้ง ๕ ที่อบรมบ่มเพาะมาแล้วแต่อดีตและปัจจุบันแตกต่างกัน

อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ

ศรัทธา ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ตั้งมั่นดีแล้ว

วิริยะ ความเพียรอันต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

สติ ความระลึกได้ ระลึกรู้อย่างตั่งมั่น

สมาธิ ความสงบระงับ ตั้งมั่นแห่งจิตและการงานที่กระทำ

ปัญญา ความเข้าใจ รู้จักใคร่ครวญพิจารณาในสิ่งที่มีในกายและใจ อย่างแจ่มชัด จนรู้เท่าทันความเป็นไปภายในกายและใจ

เมื่อพระอริยบุคคลผู้ที่ศึกษา อบรม คุณธรรมทั้ง ๕ มาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างแตกต่างกัน

ผลที่ได้จากการอบรมจิตในปัจจุบัน จึงแตกต่างกันจนจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

พวกเจโตวิมุตติ คือ ผู้สำเร็จคุณธรรมเบื้องสูง ได้ด้วยอำนาจแห่งญาณ

พวกปัญญาวิมุตติ คือ ผู้บรรลุธรรมเบื้องสูงได้ด้วยอำนาจแห่งปัญญา

ทั้ง ๒ จำพวกนี้ถือว่า พวกปัญญาวิมุตติจักมีน้อยกว่า เหตุเพราะทำได้ยาก เพราะต้องมีกำลังแห่งสติสัมปชัญญะอันแรงกล้า ตั้งมั่นจนกลายเป็น วสี คือ มีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลา

ส่วนพวกเจโตวิมุตติ จักมีมากกว่า เพราะทำได้ง่ายกว่า เหตุเพราะใช้กำลังแห่งสมาธิเป็นหลักในการบรรลุธรรม

ขยายความมาถึงตรงนี้ ก็หวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะทำความเข้าใจตนเองได้ว่า เป็นจำพวกไหน
เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02zmcJvTLvzmHvy5FkbxVToZDZFNTADbtF4exjbfLmFYucp7JNpf76ZvZrJXodczLjl