ประวัติพระมาลุงกยเถระ (ตอนที่ 3)

0
40

ประวัติพระมาลุงกยบุตร (ตอนที่ ๓)
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระมาลุงกยบุตรเถระ ได้วิงวอนขอให้องค์พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมอันลุ่มลึกโปรดท่าน

จนท่านเข้าถึงความรู้แจ่มชัดในคำว่า

สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่มีอยู่จริง

มหาสติอันยิ่งใหญ่ หมดจด ได้บังเกิดแก่ท่าน จนอุทานออกมาว่า

“ผู้ที่รู้แจ้งถึงธรรมทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่ตกอยู่ในความกำหนัดยินดีกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ทั้งปวง ด้วยเพราะมีสติปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง”

สมัยหนึ่ง ท่านพระมาลุงกยบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้วจักพึงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ตั้งอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความเพียรทั้งกายและใจตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั้น”

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูกรมาลุกยบุตร ในการที่เธอขอโอวาทโดยย่อนี้แก่เราในบัดนี้ ดูจักไม่ควรแก่วัยของเธอ ซึ่งโอวาทโดยย่อนั้นควรแก่ภิกษุผู้มีอายุแก่ชรา จึงจักควร

ส่วน ทหรภิกษุ (ภิกษุหนุ่ม) ควรจักได้ฟังโอวาทที่ละเอียดยืดยาว เพื่อจักได้ขัดเกลากาย ใจ ให้สงบ ระงับจากตัณหาทั้งปวง ด้วยความเพียรอันยิ่ง

พระมาลุงกยบุตรจึงเฝ้าอ้อนวอนกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อ แม้ไฉน ข้าพระองค์จะพึงรู้ถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยย่อ แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงเป็นทายาทแห่ง ภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยย่อ

พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นพระมาลุงกยบุตร เฝ้ารบเร้าอ้อนวอนของฟังธรรมโอวาทอย่างย่ออยู่เช่นนั้น ทั้งที่วัยของเธอก็ยังหนุ่มแน่นจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนมาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหา ซึ่งเป็นที่ที่ตัณหา ตั้งอยู่เมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนมาลุงกยบุตร ตัณหาที่เกิดแก่ภิกษุ

ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ ๑

เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ๑

เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ ๑

เพราะความเป็นและความไม่เป็น ความมีและความไม่มีสิ่งเหล่า นี้เป็นเหตุ ๑

ดูก่อนมาลุงกยบุตร เหตุเกิดตัณหาซึ่งเป็นที่ที่ตั้งแห่งตัณหา เมื่อเกิดย่อมมีแก่ภิกษุ ๔ ประการ นี้แล เมื่อใด ภิกษุละตัณหาที่เกิดจากเหตุดังกล่าวมานั้นได้แล้ว ตัดราก ถอนโคนตัณหานั้นขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วนแล้ว ให้ถึงความไม่มีไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เราเรียกว่า ตัดตัณหาได้เด็ดขาด รื้อสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เหตุเพราะเธอได้ละมานะโดยชอบแล้ว

ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทให้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า การทำประทักษิณแล้วหลีกไป

กาลต่อมา ท่านพระมาลุงกยบุตรได้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ตั้งตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความเพียร เพ่งพิจารณาธรรมโดยย่อ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานให้ดีแล้ว มีใจเด็ดเดียวอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ด้วยปัญญาอันยิ่งได้รู้ชัดว่า

“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”

สมัยหนึ่ง พระผู้พระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นรับพระดํารัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจําโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่หนอ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจําได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยดีพระพุทธเจ้าข้า

ดูก่อนมาลุงกยบุตร ก็เธอจําโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วว่าอย่างไร.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจําได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ

– สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายนี้เป็นตัวตน ถือตัวถือตน ว่าเป็นของเรา

– วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ คุณของศีล คุณของธรรมทั้งปวง ไม่ยอมปลงใจเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

– สีลัพพตปรามาส ความไม่แจ่มชัดในศีล มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งศีลพรตจนกลายเป็นอัตตา

– กามฉันทะ ความพึงพอใจในกามคุณทั้งปวง

– พยาบาท ความคิดประทุษร้ายเขา คิดร้ายผู้อื่น ความอาฆาต พยาบาท ความขุ่นเคือง ความขัดข้อง ความจองเวร

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จําได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนี้.

ดูก่อนมาลุงกยบุตร เธอยังจำได้หรือไม่เล่าว่า เราตถาคตแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้แก่ใครหนอ ก็เพราะเหตุอันใด

ก็เพราะเหตุมาจาก พวกนักบวช พวกอัญญเดียรถีย์ชอบที่จักโต้เถียงกัน เปรียบประดุจดังเด็กน้อย ด้วยความคิดว่า กายของตน หากยังเป็นเด็กอ่อนผู้ยังนอนแบเบาะอยู่ จะมีสักกายทิฏฐิจักเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยนั้นมาแต่ที่ไหน.

จะมีก็แต่สักกายทิฏฐิอันเป็นอนุสัยเท่านั้นที่ติดตามตัวเด็กนั้นมาแต่กำเนิด

แม้แต่ความคิดที่ว่า ธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมไม่มีแก่เด็กอ่อนผู้ยังนอนแบเบาะอยู่ แล้วความใคร่ครวญสงสัยในธรรมทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยนั้นแต่ที่ไหน.

จะมีก็แต่วิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ที่ตามตัวเด็กนั้นมา

ดูก่อนมาลุงกยบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ยังชอบเถียงกันว่า ศีลทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่เด็กอ่อนนอนแบเบาะอยู่แล้ว สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่น โอ้อวดในศีลทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยนั้นแต่ที่ไหน.

จะมีก็แต่สีลัพพัตตปรามาสอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ที่ติดตามตัวเด็กน้อยนั้นมา

ทั้งยังชอบถกเถียงกันว่า กามทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่เด็กอ่อนผู้ยังนอนแบเบาะอยู่ แล้วกามฉันทะความพึงพอใจในกามทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยนั้นแต่ที่ไหน

จะมีก็แต่กามราคะอันเป็นอนุสัยเท่านั้นที่ติดตามตัวเด็กน้อยนั้นมา

ดูก่อนมาลุงกยบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ยังชอบถกเถียงกันในเรื่อง การผูกพยาบาทในสัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่เด็กอ่อนผู้ยังนอนแบเบาะอยู่ แล้วความพยาบาทในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กน้อยนั้นมาแต่ที่ไหน.

จะมีก็แต่พยาบาทอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ที่ติดตามตัวเด็กนั้นมา

ดูก่อนมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นมักจะโต้เถียงกันด้วยคําโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กอ่อนเช่นนี้อยู่เนืองๆ มิใช่หรือ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เวลานี้เป็นกาลสมควร ข้าแต่พระสุคตเจ้า เวลานี้เป็นกาลสมควรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นแก่ภิกษุทั้งหลายให้ได้สดับต่อหน้าพระพักตร์ พวกพระองค์จักได้ทรงจํากันเอาไว้.

ดูก่อนอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักแสดงธรรมนั้น
ท่านพระอานนท์และหมู่สงฆ์ทั้งหลายทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า

โปรดติดตามตอนต่อไปนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0DZN3pmppU7PGv3US6yioFVerTLL1DdGwALfsSs59rpuDZC1PbYYyu12XvEaRJsqgl