สามเณรโสปากะ (ตอนที่ 2)

0
71

สามเณรโสปากะ (ตอนที่ ๒)
๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่กุมารโสปากะผู้กำพร้าถูกทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า

พระบรมศาสดาทรงช่วยไว้แล้วพาไปขออนุญาตบรรพชาจากนายป่าช้าเป็นพ่อเลี้ยงผู้เก็บกุมารโสปากะไปเลี้ยง

หลังจากบรรพชาแล้ว พระบรมศาสดาทรงสอนอสุภะกรรมฐานให้สามเณรโสปากะพิจารณา จนเจริญปัญญาจิตแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ในป่าช้านั้นเอง

ต่อมาสามเณรโสปากะได้ตามเสด็จพระบรมศาสดาไปสู่บุพพาราม องค์พระบรมศาสดาทรงตั้งปัญหาถามโสปากะสามเณรอรหันต์ ๑๐ ข้อ เรียกว่า “ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา”

ด้วยทรงตรัสถามดังนี้ว่า

ท่านโสปากะ เมื่อหน่ายในธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นมูลเหตุให้ ได้ทำที่สุดทุกข์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงธรรมนั้น จึงตรัสถามปัญหาว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่าหนึ่ง.

สามเณรโสปากะทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคคลอธิษฐานว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่ง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือ ปัจจุบัน ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอย่างหนึ่งว่า สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรม คือ ปัจจุบัน คำนั้นฉันใดเรากล่าวว่า ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑ ดังนี้ คำนี้เราอาศัยข้อนั้นกล่าวแล้ว.

(อุทเทส หมายถึง การยกขึ้นแสดง, ข้อที่ยกขึ้นแสดง, การยกขึ้นชี้แจงหรือหัวข้อที่กำหนด บทที่ตั้งขึ้นมาเป็นหลัก)

(ไวยากรณ์ หมายถึง การทำนาย ,การจำแนกแจกแจง ,การอธิบาย ขยายความให้แจ่มชัด)

พระศาสดาผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๒

พระเถระจึงทวนคำถามซ้ำว่า เทฺว ๒ ทูลตอบด้วยเทศนาเป็นธรรมาธิษฐานว่า คือนามและรูป พระพุทธเจ้าข้า

(นาม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป จับต้อง สัมผัส หรือ รู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

(รูป หมายถึง สิ่งที่มีรูป สัมผัส จับต้องได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ได้แก่ รูปขันธ์ทั้งหมด)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๒ อย่าง ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในธรรม ๒ อย่าง คือนามและรูป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในธรรม ๒ อย่างนี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ ฯลฯย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คำนั้นใดว่า ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒ ดังนี้ คำนี้ เราอาศัยข้อนั้น กล่าวแล้ว.

พระศาสดาผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๓.

พระเถระจึงทวนคำถามซ้ำว่า ตีณิ ๓ เมื่อแสดงสังขยา (การนับ, การคํานวณ) ที่เหมาะแก่ลิงค์ (เครื่องหมายของเพศภาวะ) จึงทูลตอบว่า ติสฺโส เวทนา คือ เวทนา ๓

1. สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม

2. ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม

3. อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๓ เหล่านี้ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในธรรม ๓ คือเวทนา ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๓ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ดังนี้ว่า ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓ ดังนี้ เช่นนี้เราจึงอาศัยธรรมข้อนั้นมากล่าวแล้ว ดังนี้.

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหาอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๔

พระเถระจึงทวนคำถามนั้นซ้ำว่า จตฺตาริ ๔ จึงทูลตอบว่า อริยสจฺจานิ อริยสัจทั้งหลาย (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๔ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ธรรมโดยชอบ เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ในธรรม ๔ คือ อริยสัจ ๔

1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5

2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ( ก็ข้อนี้แลเป็นความดับทุกข์ ) ( ความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละใด ) จาโค ความสละตัณหานั้น , ปะฏินิสสัคโค ความวางตัณหานั้น , มุตติ การปล่อยตัณหานั้น , อะนาละโย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น

4. มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ

๑. ความเห็นชอบ เห็นว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกกรม เห็นว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเห็นในอริยสัจทั้ง ๔ (เหล่านี้เรียกว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิ)

๒. ดำริชอบ คือการดำริออกจากกาม ดำริที่จะไม่พยาบาท ดำริที่จะไม่เบียดเบียน (เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ)

๓. เจรจาชอบ คือการไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ พูดแต่เรื่องจริง พูดแล้วผู้ฟังเกิดปัญญา (เรียกว่าสัมมาวาจา)

๔. ประพฤติชอบหรือการงานชอบ มีความประพฤติหรือการงานที่ปราศจากโทษ ละกายวาจาทุจริต ประพฤติกายวาจาสุจริต ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น (เรียกว่าสัมมากัมมันตะ)

๕. เลี้ยงชีวิตชอบ หาเลี้ยงชีวิตโดยถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำอาชีพใดที่เป็นเหตุให้ละเมิดศีลธรรม (เช่นนี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ)

๖. เพียรชอบ ได้แก่ เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เสื่อมไป (เหล่านี้เรียกว่า สัมมาวายามะ)

๗. ระลึกชอบ คือการมีสติระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม (เรียกว่าสัมมาสติ)

๘. ตั้งใจชอบ คือการตั้งใจไว้ในองค์ฌานทั้ง ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมเหล่านี้แลภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมนั้นโดยชอบ เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรมนั้นปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔ ดังนี้ เช่นนี้เราจึงอาศัยธรรมข้อนั้นมากล่าวแล้ว ดังนี้.

พระศาสดามีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญญาที่ทรงถามนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๕

พระเถระจึงทวนคำถามซ้ำว่า ปญฺจ ๕ แล้วจึงทูลตอบว่า อุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕

ขันธ์ทั้งหลายที่ถูกอุปาทานเป็นเหตุให้เกิดมา หรือเป็นเหตุทำให้อุปาทานเกิด ชื่อว่าอุปาทานขันธ์อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอาสวะอันบุคคลพึงยึดถือ นี้ชื่อว่าอุปาทานขันธ์เหล่านั้น ไม่มีธรรม ๕ อย่างอื่น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๕ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ในธรรม ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕ (ความยึดมั่นถือมั่นอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๕ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยธรรมนี้ว่า ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕ เราอาศัยธรรม ๕ ข้อนั้นมากล่าวแล้ว ดังนี้.

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ แม้นี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๖

พระเถระจึงทวนคำถามซ้ำว่า ฉ หก จึงทูลตอบว่า อายตนะภายใน

อายตนะทั้งหลายที่ประกอบในภายใน หรือกระทำตนให้เป็นที่อาศัยเป็นไป ชื่อว่า อัชฌัตติกะ. ชื่อว่า อายตนะ เพราะสืบต่อหรือเพราะก่อความเจริญ หรือเพราะนำสังสารทุกข์มาให้ยืดยาว คำนี้เป็นชื่อของจักษุ ตา, โสตะ หู, ฆานะ จมูก, ชิวหา ลิ้น, กายะ กาย, มนะ ใจ. อาตนะภายใน ๖ ไม่มีธรรม ๖ อย่างอื่นเหมือนอย่างที่ตรัสไว้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๖ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้. ในธรรม ๖ คืออายตนะภายใน ๖

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๖ เหล่านี้แล ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยธรรมนี้ว่า ปัญหา ๖ อุทเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ เราอาศัยธรรมข้อนั้นมากล่าวแล้ว.

พระศาสดาผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๗. วิญญาณฐิติ ๗

พระเถระทวนคำถามในการตอบปัญหาธรรมข้อใหญ่ก็จริง ถึงอย่างนั้น ภิกษุผู้มีจิตอบรมดีแล้วในธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ พระเถระเมื่อแสดงธรรมเหล่านั้น จึงทูลตอบว่า โพชฌงค์ ๗. อนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเห็นชอบในธรรมนั้นแล้วอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนด เพื่อความดับ เพื่อความระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความดับ ดังนี้

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหานี้อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๘.

พระเถระกล่าวโลกธรรม ๘

พระเถระ เมื่อแสดงธรรมเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า องค์อริยะแห่งมรรค ๘ เพราะเหตุที่ ธรรมดามรรคอันพ้นจากองค์ ๘ หามีไม่ แต่ว่ามรรคมีเพียงองค์ ๘ เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจะให้สำเร็จความข้อนั้นจึงทูลตอบ โดยวิลาสแห่งเทศนาว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ความและเทศนาธรรมข้อนี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับรองธรรมนั้น

ภิกษุ เมื่อเจริญมรรคมีประเภท ๘ และมีองค์ ๘ นี้อย่างนี้ ย่อมทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งพระนิพพาน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หางเมล็ดข้าวสาลี หรือหางเมล็ดข้าวเหนียว ที่เขาตั้งไว้ชอบ เอามือหรือเท้าเหยียบ จักตำเอามือหรือเท้าได้ หรือจักทำให้ห้อเลือดได้ ข้อนี้เป็นไปได้.

เพราะอะไร เพราะหางเมล็ด เขาตั้งไว้ชอบ ฉันใด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนอ ก็ฉันนั้นเหมือนกันจักทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด จักทำให้แจ้งพระนิพพานได้ ก็ด้วยทิฎฐิที่ตั้งไว้ชอบแล้ว ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบแล้ว ดังนี้.

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหานี้ จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๙.

พระเถระจึงทวนคำถามซ้ำว่า นว ๙ จึงทูลตอบว่า สัตตาวาส.

คำว่า สัตว์ ได้แก่สัตว์มีชีวิต ที่ท่านบัญญัติที่อาศัยขันธ์อันนับเนื่องในชีวิตินทรีย์

คำว่า อาวาส ได้แก่ชื่อว่าอาวาส เพราะเป็นที่อยู่อาศัย. ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าสัตตาวาส นับเป็นทางแห่งเทศนา. แต่เมื่อว่าโดยอรรถใจความ คำนี้เป็นชื่อของสัตว์ ๙ ประเภท เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า-

ผู้มีอายุ เหล่าสัตว์มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน มีอยู่ เหมือนมนุษย์บางพวก เทพบางพวก และวินิปาติกะบางพวก นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๑

เหล่าสัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพที่อยู่ในหมู่พรหมผู้เกิดเป็นพวกแรก นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๒

เหล่าสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าอาภัสสระ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๓

เหล่าสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าสุภกิณหะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๔

เหล่าสัตว์ที่ไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์ มีอยู่ เหมือนทวยเทพเหล่าอสัญญสัตว์ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๕

เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๖

เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงวิญญาณณัญจายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๗

เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๘

เหล่าสัตว์ ฯลฯ ที่เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญยตนะ นี้เป็นสัตตาวาสที่ ๙

พระศาสดา ผู้มีจิตอันพระเถระทำให้ทรงยินดีด้วยการตอบปัญหานี้อย่างนี้ จึงตรัสถามปัญหาอันยิ่งขึ้นไปว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๑๐

ในปัญหานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไว้ในการพยากรณ์ทั้งหลาย นอกจากการพยากรณ์ปัญหานี้เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๑๐ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้.

ในธรรม ๑๐ คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรม ๑๐ ภิกษุเมื่อหน่ายโดยชอบ เมื่อคลายโดยชอบ เมื่อหลุดพ้นโดยชอบ เห็นถึงที่สุดโดยชอบ ตรัสรู้ความเป็นธรรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ด้วยธรรมนั้น เรากล่าวว่า ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ คำนี้ เราอาศัยธรรมข้อนั้นกล่าวแล้ว ดังนี้.

พระเถระเมื่อแสดงการบรรลุองค์ ๑๐ เหล่านั้น จึงทูลตอบด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐานว่า ท่านผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๑๐ ท่านเรียกว่า พระอรหันต์.

เพราะในข้อนี้ ท่านผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๑๐ เหล่าใด ท่านเรียกว่า พระอรหันต์ พึงทราบว่าองค์ ๑๐ เหล่านั้น พระเถระถูกตรัสถามว่า อะไรเอ่ย ชื่อว่า ๑๐ จึงทูลชี้แจง.อย่างนี้ว่า

สามเณรโสปากะทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อเสขะ อเสขะ ภิกษุเป็นอเสขะ ด้วยเหตุเท่าไรพระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสตอบว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วย

สัมมาทิฏฐิเป็นอเสขะ

สัมมาสังกัปปะเป็นอเสขะ

สัมมาวาจาเป็นอเสขะ

สัมมากัมมันตะเป็นอเสขะ

สัมมาอาชีวะเป็นอเสขะ

สัมมาวายามะเป็นอเสขะ

สัมมาสติเป็นอเสขะ

สัมมาสมาธิเป็นอเสขะ

สัมมาญาณะเป็นอเสขะ

และสัมมาวิมุตติเป็นอเสขะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นอเสขะแล.

โสปากะสามเณรนั้น ทูลแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ปัญหาเหล่านั้นจึงชื่อว่า กุมารโสปากะปัญหา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทานสาธุการแก่เธอ แล้วตรัสถามว่า

“เธอมีอายุเท่าไหร่แล้วโสปากะ”

สามเณรทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! หม่อมฉันมีอายุได้ ๗ ขวบขอรับ”

พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระหฤทัยอันโสปากสามเณรให้ยินดีแล้วจึงทรงตรัสว่า “โสปากะ” เธอแก้ปัญหาทัดเทียมกับสัพพัญญุตญาณของเรา แล้วจึงทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบท การอุปสมบทนี้มีชื่อว่า “ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา” หรือ อุปสมบทด้วยการพยากรณ์ปัญหา

โสปากะจึงเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ในวัยเพียงแค่ ๗ ขวบเท่านั้น

ต้องอ่านหลายๆ รอบ จนเกิดความเข้าใจแจ่มชัด จึงจะนำมาพิจารณา ทบทวน ปฏิบัติจนเห็นผลได้ในระดับสติปัญญาของตนๆ ที่พึงมี

โปรดติดตามตอนต่อไป

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02UE5zLsQfYBD7sqEEtAuWXKE4gDTH9rH11GvzZ8ufj7VvcSEQjRsk3RYVDyYeg7q2l