บทสรุป หลักการพิจารณาธาตุดินและธาตุน้ำ
๒๓ กันยายน ๒๕๖๖
หลังจากได้แสดงรายละเอียดของธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ๒๐ กอง ธาตุน้ำ ๑๒ กอง ธาตุลม ๖ กอง ธาตุไฟ ๔ กอง รวมทั้งทุกข์ โทษ โรค ภัย และความเดือดร้อนอันตรายของแต่ละธาตุไปแล้ว
วันนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดูบทสรุปในการพิจารณาของแต่ละธาตุให้เข้าใจแจ่มชัด เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาปฏิบัติตามได้
หลักการพิจารณาธาตุดินและธาตุน้ำ มีหลักในการพิจารณาอยู่ว่า
โดยสี แรกเริ่มมีสีอะไร ในเวลาต่อมาสีนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และเมื่อธาตุดินและธาตุน้ำนั้นเกิดโรค ภัย โทษ ทุกข์ขึ้น ดินและน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็นสีอะไร
โดยสัณฐานหรือโดยรูปร่าง แรกเริ่มธาตุดินและธาตุน้ำนั้น ภายในกายมีรูปร่างอย่างไร ในเวลาต่อมารูปร่างของธาตุดินและธาตุน้ำ ภายในกายนี้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง และเมื่อเกิดโรค ภัย โทษ ทุกข์ขึ้น ดินและน้ำในกายนี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปหรือไม่
โดยกลิ่น จากเดิมเริ่มแรกกลิ่นของธาตุดินภายในกายทั้ง ๒๐ กอง มีกลิ่นเช่นไร ธาตุน้ำ ๑๒ กอง มีกลิ่นเช่นไร และในเวลาต่อมาดินและน้ำภายในกายแต่ละกองมีกลิ่นเช่นไร อีกทั้งได้แปรเปลี่ยนไปอย่างไร
โดยที่ตั้งหรือที่อยู่ แรกเริ่มเดิมทีเดียวธาตุดินและธาตุน้ำภายในกายนี้แต่ละกอง ตั้งอยู่โดยปกติ ตำแหน่งใดของกายนี้ เวลาต่อมาได้เปลี่ยนแปลงที่ตั้งไปหรือไม่ และเมื่อเกิดโรค ภัย โทษ ทุกข์ขึ้น ธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง น้ำอีก ๑๒ กองได้เปลี่ยนแปลงที่ตั้งหรือยังคงทีเดิมหรือไม่
โดยหน้าที่ ธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง ธาตุน้ำอีก ๑๒ กอง ต่างมีหน้าที่ต้องทำอยู่ในภายในกายนี้อย่างจริงจัง ซื่อตรง ชัดเจน และถูกต้อง แม่นยำ เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความอยู่ได้ อยู่รอด และอยู่ดีของกายนี้
หาใช่อยู่อย่างตั้งมั่น คงที่ไม่
ต่อให้เราเพียรพยายามทุ่มเทสรรพกำลัง สรรพทรัพยากร สรรพวิธีสารพัดมาเลี้ยงดู ทะนุถนอม รักษาตลอดชีวิต เราท่านทั้งหลายก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง เจ็บป่วย เสื่อมโทรม และแตกสลายได้เลย
ด้วยเหตุนี้การทำหน้าที่ของธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง ธาตุน้ำ ๑๒ กอง จึงต้องกลับกลายเป็นความผิดพลาด ล้มเหลวในที่สุด
และสุดท้าย โดยความปฏิกูล น่ารังเกียจ ธาตุดินภายในกายทั้ง ๒๐ กอง ธาตุน้ำอีก ๑๒ กอง ทั้งเริ่มแรก ท่ามกลาง และที่สุด มีสี มีรูปร่าง มีกลิ่น มีที่ตั้งหรือหากเปลี่ยนแปลงที่ตั้งไปแล้วเช่นเส้นขนหรือผม มาอยู่ในอาหารใหม่ ที่เรากำลังจะดื่มกิน มันน่ารังเกียจหรือไม่
และสุดท้าย ธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง ธาตุน้ำอีก ๑๒ กอง ตลอดชีวิตของเราได้ทุ่มเทบำรุงบำเรอ ทะนุถนอม รักษามาตลอดเวลา ก็ทำได้เพียงแค่ที่จะประคับประคองให้มันดำรงอยู่ให้ได้นานที่สุดเท่านั้น แต่จะบังคับ บัญชา สั่งการให้คงที่ ตั้งมั่น ดำรงอยู่เป็นปกติสุข และไม่แตกสลาย ทำไม่ได้ ธาตุดิน ๒๐ กอง น้ำ ๑๒ กอง มันไม่ยอมเชื่อฟัง
คิดซิคิด คิดพิจารณาอยู่เช่นนี้กับธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ภายในกายตนตลอดเวลา
เช่นนี้ถือว่า เป็นการสร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้น ที่เรียกว่า คิดเห็นตามสภาวธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ทำทุกวัน ทุกเวลาจนเป็นอาจินกรรม เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–