วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) (ตอนที่ 2)

0
67

หมวด : กรรมฐาน – จตุธาตุววัฏฐาน 4
เรื่อง : วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ตอนที่ 2
บทความ : 13 ก.ย. 2566
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/_ihtVjk_gDU
รับชมครบทุกตอนได้ที่ :
Website: https://issaradhamchannel.com/tag/จตุธาตุววัฏฐาน-4
YouTube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL6Ru9Ju-iZKqkvGgNYgy2GKPPyzzXBoGG

——————————————–

วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) (ตอนที่ 2)
๑๓ กันยายน ๒๕๖๖

วันนี้เรามาติดตามศึกษา กายานุสติกรรมฐาน ในอาการทั้ง ๓๒ หมวดจตุธาตุฐานสี่ ในธาตุดิน ทั้ง ๒๐ กองกันต่อจากตอนที่แล้ว

๑๑. หัวใจ มีที่ตั้งอยู่ในทรวงอกด้านซ้าย มีขนาดเท่ากับกำปั้นของผู้นั้น มีหน้าที่สูบฉีดโลหิต ที่ประกอบด้วยอากาศและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงสมองและปอด

๑๒. ตับ มีที่ตั้งอยู่ชายโครงด้านขวา ซึ่งก็มีทั้งตับอ่อนและตับแก่ ที่อยู่ติดกัน ด้านบนและล่าง มีหน้าที่ผลิตน้ำดี ช่วยกลั่นกรองของเสียต่างๆ มิให้เข้าสู่กระแสเลือด ทั้งยังช่วยกำจัดของเสียต่างๆ ออกจากระบบอวัยวะภายในร่างกาย

๑๓. พังผืด เป็นเนื้อเยื่อที่มีสีดังน้ำข้าว ยืดหดได้เป็นแผ่นบางๆ ทำหน้าที่ช่วยยึดกล้ามเนื้อให้ติดกัน พังผืดจึงแทรกไปตามกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของกายนี้

๑๔. ไต มีที่ตั้งอยู่ด้านหลังตรงกระเบนเหน็บทั้ง ๒ ข้าง มีรูปร่างดังเมล็ดถั่วแดง แต่ใหญ่เท่ากับกำมือ ทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำและเลือดเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ ให้ขับออกมาทางท่อปัสสาวะและรูขุมขน

๑๕. ปอด มีที่ตั้งอยู่ในทรวงอกทั้ง ๒ ข้าง ทำหน้าที่ควบคุมลมที่เข้าสู่ร่างกาย ช่วยฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง ช่วยขับน้ำส่วนเกินของร่างกายให้ออกมากับลมหายใจ และช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ

๑๖. ลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็นท่อนบนกับท่อนล่าง ท่อนบนเชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร ท่อนล่างทำหน้าที่ลำเลียงกากอาหาร ของเสียไปทิ้งทางรูทวารหนัก

นอกจากนี้ผนังลำไส้ทั้ง ๒ ตอน ยังทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่ถูกลำเลียงมาเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปหล่อเลี้ยงร่างกายอีกด้วย

๑๗. ลำไส้น้อย เป็นขดส่วนท่อนล่าง ทำหน้าที่ลำเลียงกากอาหารไปทิ้ง และมีผนังที่ยังดูดซึมสารอาหารได้อีกด้วย

๑๘. อาหารใหม่ ชิ้นส่วนของอาหารที่ผ่านการบด การย่อยแล้ว ถูกส่งลงมาอยู่ในลำไส้ตอนบนอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้ดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ แล้วจึงบีบ รัด ลำเลียงไปสู่ลำไส้ท่อนล่าง กลายสภาพเป็นของที่ร่างกายต้องขจัดทิ้ง ขับถ่ายออก

๑๙. อาหารเก่า เป็นกากอาหารที่ถูกบด เคี้ยว ย่อย และดูดซึมจนร่างกายไม่ต้องการแล้ว จึงถูกลำเลียงมาตกอยู่ในลำไส้ส่วนล่างสุด เพื่อเตรียมที่จะขับถ่ายออก

๒๐. มันสมอง มีลักษณะคล้ายกับเนื้อของผลมะขวิด ตั้งอยู่ในกะโหลกศีรษะ มีเส้นประสาทระโยงระยางไปเชื่อมต่อในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า แขน ฝ่ามือ นิ้วมือ กระดูกสันหลัง ลงไปจนถึงอวัยวะท่อนล่างของร่างการ ไม่เว้นแม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น

สมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย

สมองยังทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่ตาดู หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับรส กายสัมผัส

อวัยวะส่วนต่างๆ ดังกล่าวมานี้จักเป็นธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง โดยมีหลักการพิจารณาให้เห็นถึง สี กลิ่น สัณฐานรูปร่าง และหน้าที่ทุกกระบวนการล้วนตกอยู่ในความปฏิกูลอันน่ารังเกียจ ไม่คงที่ เป็นทุกข์ และไม่มีอยู่จริง

พิจารณาเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนรู้เห็นตามความเป็นจริง อันมีอยู่ทั้งในกายตนและกายผู้อื่น สัตว์อื่น

วันต่อไปจะนำเอาธาตุน้ำ ๑๒ กอง มาให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษา เรียนรู้กันต่อนะจ๊ะ

จบก่อนแล้วจ้า นั่งเขียนนานกระดูกมันแสดงอาการประท้วง ว่ามึงนั่งกดทับกูมานานแล้ว ลุกได้แล้ว ไปแล้วจ้า

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid05p2rdf5SQ51MH4niG4AfiCJ11i7Te1sMXvYwsMdNkmT3NEEXi8uijpyET8BfXf5sl