ประวัติพระโสณกุฎิกัณณเถระ (ตอนที่ ๒)
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระมหากัจจายนะ ฝากพระโสณะให้มากราบทูลพระบรมศาสดาได้ทรงโปรดพิจารณาถึงความทุกข์ยากลำบากในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติ ๕ ประการ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงสดับรับทราบความลำบากของหมู่ภิกษุสงฆ์ ในชนบทแล้ว พระองค์ทรงประทานอนุญาตตามที่ขอมานั้นทุกประการ
ข้อ ๑. ในชายแดนชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่า ๕ รูปรวมทั้งพระอุปัชฌาย์
ซึ่งในพุทธบัญญัติเดิมทรงบัญญัติไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ ๑๐ หรือมีภิกษุเกินกว่า ๑๐ ขึ้นไปได้
ข้อ ๒. ในชายแดนชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าเป็นชั้น ๆ
ในพุทธบัญญัติเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวมต้องอาบัติทุกกฎ
ข้อ ๓. ในชายแดนชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท” (ในมัชฌิมประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)
ในพุทธบัญญัติเดิม ภิกษุใดยังหย่อนกึ่ง (ยังไม่ถึงครึ่ง) เดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยเดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน คราวกระวนกระวาย เจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ
ข้อ ๔. ในชายแดนชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วย หนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น”
ในพุทธบัญญัติเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ข้อ ๕. ในชายแดนชนบท มีภิกษุน้อย มนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมาด้วยคำว่า พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เมื่อพวกเธอกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจว่าผ้าผืนนั้นเป็นนิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละ เพราะล่วงเวลา ๑๐ วันแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวาย ลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”
ในพุทธบัญญัติเดิม ภิกษุใดพึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เมื่อทรงมีพุทธานุญาตบัญญัติสิกขาบททั้ง ๕ ขึ้นมาใหม่แล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสสั่งให้พระอานนท์เถระจัดสถานที่ ให้พระโสณะ ท่านพักค้างแรมในพระคันธกุฎีร่วมกับพระองค์
กาลต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงตื่นพระบรรทมแล้วทรงสนทนาท่านพระโสณะว่า
ดูกรภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัดแก่เราให้ได้สดับ
ท่านพระโสณะกราบทูลสนองพระพุทธบัญชาว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สวดพระสูตรทั้งหลาย อันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค จนหมดสิ้นโดยทำนองสรภัญญะ
พระสูตรที่มีในอัฏฐกวรรคนี้คือ ๑. กามสูตร , ๒. คุหัฏฐกสูตร, ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร , ๔. สุทธัฏญกสูตร , ๕. ปรมัฏฐกสูตร , ๖. ชราสูตร , ๗. ติสสเมตเตยยสูตร , ๘. ปสูรสูตร , ๙. มาคันทิยสูตร , ๑๐. ปุราเภทสูตร , ๑๑. กลหวิวาทสูตร , ๑๒. จูฬวิยูหสูตร , ๑๓. มหาวิทยูหสูตร , ๑๔. ตุวฏกสูตร , ๑๕. อัตตทัณฑสูตร , ๑๖. สารีปุตตสูตร
ครั้นจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ
พระผู้มีพระภาคทรงพระปราโมทย์โปรดประทานสาธุการว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ภิกษุ สูตรทั้งหลายที่มีในอัฏฐกวรรคเธอเรียนมาดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำได้แม่นยำดี เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีโทษ สาธยายพระสูตรให้เข้าใจรู้ความได้แจ่มชัด เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ?
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า เพราะเหตุไร เธอจึงมัวประพฤติชักช้าเช่นนั้นเล่า ภิกษุ?
พระโสณะ ตรัสว่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นโทษในกามทั้งหลายนานแล้ว แต่เพราะฆราวาสคับแคบ มีกิจมาก มีกรณียมาก จึงได้ประพฤติชักช้าอยู่ พระพุทธเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความข้อนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
อารยชนเห็นโทษในโลก ทราบธรรมที่ปราศจากอุปธิแล้ว
ฉะนั้น จึงไม่ยินดีในบาป
เพราะคนสะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป.
และได้ทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้มีวาจาไพเราะ, ผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ
ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ พักอาศัยอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พอสมควรแก่เวลาแล้ว ได้กราบทูลลากลับมายังสำนักของพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในอวันตีชนบท กราบเรียนรายงานผลการเข้าเฝ้าให้ได้รับทราบทุกประการ
ขอย้อนหยิบเอาเหตุการณ์ที่พระโสณะเถระ ได้แสดงพระสูตรอัฏฐกวรรค ด้วยทำนองสรภัญญะถวายพระบรมศาสดาจบลง
องค์พระบรมศาสดาทรงโสมนัสชื่นชมพร้อมกับทรงเปล่ง สาธุการขึ้น ๓ ครั้ง
ครั้นพระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่พระโสณะ ขณะนั้นพวกเทพ นาค ครุฑ ได้ฟังสาธุการของพระศาสดาแล้วก็เปล่งเสียงสาธุการด้วย เสียงนั้นติดต่อเป็นอันเดียวกันไปจนถึงพรหมโลก ขณะนั้นเทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ในเรือนของมหาอุบาสิกา มารดาของพระเถระในกุรุรฆรนคร อันไกลจากวัดเชตวันถึง 120 โยชน์ ก็เปล่งสาธุการด้วย
มหาอุบาสิกาถามว่า “นั่นใครให้สาธุการ”
“เราเองน้องหญิง” เทพธิดาตอบ
“ท่านเป็นใคร”
“เราคือเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในเรือนนี้”
“เมื่อก่อนท่านไม่เคยให้สาธุการเลย วันนี้ทำไมจึงให้สาธุการเล่า”
“เรามิได้ให้สาธุการแก่ท่าน”
“ท่านให้สาธุการแก่ใคร” อุบาสิกาถาม
“เราให้แก่บุตรของท่าน พระโสณกุฏิกัณณะ ขึ้นเล่า”
“บุตรของเราทำอะไร” อุบาสิกาถาม
เทพธิดานั้นจึงเล่าเรื่องทั้งปวงให้มารดาพระโสณะฟัง จนนางมีความปีติเกิดขึ้น นางคิดว่า “ในเมื่อบุตรของเราแสดงธรรมแก่พระศาสดาได้ ก็แสดงธรรมแก่เราได้เหมือนกัน เมื่อใดบุตรของเรามาถึง เราจะขอฟังธรรมในบุตรเรา”
วันรุ่งขึ้นพระโสณะบิณฑบาตไปถึงประตูเรือนของมารดา มารดาจึงขอให้ท่านแสดงธรรมโดยกำหนดวันและเวลานิมนต์ ซึ่งพระโสณะรับนิมนต์ด้วยความยินดี
ในวันฟังธรรม อุบาสิกาพาบริวารทั้งสิ้นไปฟังธรรม ให้หญิงคนใช้ (ทาสี) เฝ้าเรือนคนเดียว ขณะนั้นโจรกลุ่มหนึ่งรู้ว่ามหาอุบาสิกาผู้มั่งคั่งไปฟังธรรม จึงตั้งใจจะไปปล้นบ้านของนาง โดยตกลงให้หัวหน้าโจรไปคุมตัวมหาอุบาสิกาอยู่ห่างๆ ในที่ฟังธรรม เพราะหากมหาอุบาสิการู้เรื่องโจรเข้าบ้านแล้วรีบกลับมา ก็จะได้ฆ่ามหาอุบาสิกาเสีย
ครั้นเมื่อถึงเวลา ลูกน้องโจรก็เข้าบ้าน เปิดประตูห้องเก็บกหาปณะ ส่วนนางทาสีที่เฝ้าบ้านก็รีบไปบอกมหาอุบาสิกาว่าโจรเข้าบ้าน มหาอุบาสิกาตอบว่า
“นางกาฬีอุบาสิกา จึงกล่าวว่า ก็ช่างโจรปะไร ถ้าโจรต้องการกหาปณะก็ให้เอาไปให้หมด เราจะฟังธรรมที่บุตรเรากำลังจะแสดง เจ้าจงกลับไปเฝ้าเรือนต่อเถิด”
กาลต่อมานางทาสีผู้นั้น จึงรีบกลับไปเฝ้าบ้านต่อ พวกโจรเปิดห้องเก็บเงิน นางทาสีก็เดินทางกลับมาพอดีจริงเห็นโจรกำลังจะเข้าไปในห้องเก็บสมบัติ
นางทาสีก็รีบวิ่งมาบอกอุบาสิกา
อุบาสิกาจึงร้องตอบมาว่า ช่างโจรมันเถอะ มันต้องการสิ่งใดก็ปล่อยมันไป และเมื่อโจรเปิดห้องทอง นางทาสีก็รีบวิ่งกลับมาบอกอีกเช่นเคย แต่มหาอุบาสิกาดุเอาว่า
“นางตัวดีมาหาเราบ่อยๆ เจ้าอย่ามาอีก โจรต้องการสิ่งใดก็จงให้มันเอาไปเถิด ถ้าเจ้ามาหาเราอีก เราจะลงโทษเจ้า”
นายโจรซึ่งยืนอยู่ไม่ไกลนักได้ยินดังนั้นแล้วก็คิดว่า “ถ้าเรานำทรัพย์ของหญิงผู้นี้ไป สายฟ้าคงฟาดกระหม่อมเรา” จึงกลับไปสั่งให้ลูกน้องคืนของเก็บไว้ที่เดิม
หลังจากนั้นพวกโจรก็พากันไปยืนฟังธรรมด้วย พระโสณะแสดงธรรมทั้งคืนจนเช้า เมื่อมหาอุบาสิกาถามพวกโจรว่า
อ้าว ทำไมพวกเจ้าไม่ไปปล้นทรัพย์แล้วหรือ มันเกิดอะไรขึ้น
โจรเหล่านั้นจึงเล่าความทั้งปวงให้ทราบ มหาอุบาสิกาได้ยกโทษให้
โจรจึงกล่าวว่า “ถ้าท่านยกโทษแก่พวกข้าพเจ้า ก็ขออนุญาตให้พวกข้าพเจ้าได้บวชในสำนักแห่งบุตรของท่านเถิด”
มหาอุบาสิกาจึงกล่าวว่า “พ่อคุณ พวกโจรเหล่านี้เลื่อมใสในคุณของโยมและธรรมกถาของพ่อคุณ ขอบรรพชา ขอพ่อคุณจงให้บรรพชาแก่พวกเขาเถิด”
เมื่อได้ยินเช่นนั้น พระโสณะก็ให้โจรเหล่านั้นบวช แล้วให้กัมมัฏฐานต่างๆ เป็นพวกๆ ไปตามอุปนิสัย หลังจากภิกษุเหล่านั้นเรียนกัมมัฏฐานแล้ว ก็ไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ใต้ร่มไม้ ณ ภูเขาลูกหนึ่ง
ส่วนพระศาสดาซึ่งประทับนั่งอยู่ในวัดเชตวันซึ่งไกลถึง 120 โยชน์ ทรงเปล่งพระรัศมีไปประหนึ่งประทับนั่งอยู่ตรงหน้าภิกษุเหล่านั้น ตรัสพระคาถาว่า
“ภิกษุใดอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสยิ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า ภิกษุนั้นย่อมบรรลุสันตบทอันเข้าไปสงบ ระงับสังขารเป็นสุข”
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เพราะดึกแล้วจะพักบ้าง
พุทธะอิสระ
——————————————–