ประวัติท่านพระจักขุบาลเถระ (ตอนที่ ๑)
๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๖
วันนี้ขอนำอัตชีวประวัติของท่านพระมหาเถระจักขุบาล ผู้ได้รับการสรรเสริญยกย่องจากองค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นผู้เลิศในด้านความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด
เรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีบุตรชาย ๒ คน คนพี่ชื่อ “มหาบาล” คนน้องชื่อ “จุลบาล” วันหนึ่งมหาบาลผู้พี่ได้ติดตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
จนเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ในตัวของมหาบาลมานพ
จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อมุ่งขจัด ขัดเกลาจิตของมหาบาลเป็นสำคัญ ด้วยการทรงเทศนาอนุปุพพิกถา ๕ ได้แก่
๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล
๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกามคุณทั้งปวง แม้ที่สุดโลกสวรรค์ก็มีโทษ
๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกามทั้งปวง แม้สวรรค์ก็ตาม
เมื่อจบเทศนา มหาบาลมานพได้ซึ่งแจ่มแจ้ง ชัดเจนในสัจจธรรมว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน ล้วนคลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเอง เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์แล้วก็นำเอาติดตามไปไม่ได้ ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรอย่างยิ่งที่จะออกบวช เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามเสด็จพระศาสดา
คิดดังนี้แล้วมหาบาลมานพจึงเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช
พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง
เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง
พระพุทธองค์ตรัส ให้ไปบอกลาน้องชายเสียก่อน
เขาจึงหันมาบอกแก่น้องชาย
จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย ด้วยเห็นว่า พี่ของตนยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่
แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า
“บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร
มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย กำลังวังชาก็ถดถอย
สมณกิจสมณธรรมเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี อาจทำให้บริบูรณ์ได้
ดูอย่างพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙ พรรษา ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน”
ข้างฝ่ายจุลบาล เมื่อได้ฟังคำอธิบายของมหาบาลพี่ชายเช่นนั้น ก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี
น้องชายจึงห้ามดังเดิม
มหาบาลก็หาฟังไม่ จึงกล่าวแก่น้องชายว่า มรรคผลที่จะได้หาใช่เกิดมาจากตัวเจ้าเป็นผู้ให้ ล้วนเกิดมาจากตัวพี่เป็นผู้ปฏิบัติ
เมื่อพระบรมศาสดาทรงตรัสให้พี่มาบอกเจ้าว่าจะบวช พี่ก็ได้บอกแล้ว
ส่วนเจ้าจักยอมหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเจ้า มิได้เป็นเรื่องของเรา
กล่าวเช่นนั้นแล้วมหาบาลผู้เป็นพี่ชายจึงหันไปกราบทูลองค์พระบรมศาสดาขอบวช
เมื่อมหาบาลบวชแล้วจึงได้อยู่กับอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนวัตรปฏิบัติของสมณสารูป
ภิกษุมหาบาลครั้งได้รับการชี้นำสั่งสอนจนเข้าใจหลักการประพฤติตนของสมณสารูปพร้อมกันนั้นท่านก็ได้ให้การปรนนิบัติอาจารย์อยู่จนครบ ๕ พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว จึงปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น
จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามองค์พระบรมศาสดาว่า ธุระในศาสนาของพระองค์มีอะไรบ้าง
องค์พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงธุระ ๒ ประการให้ท่านพระมหาบาลได้สดับ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่สติปัญญาของตน แล้วบอกกล่าวกันต่อๆไป
ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด
พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอ ที่จะบรรลุอรหัตตผลได้ เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดารแก่พระมหาบาลจนเข้าใจแล้วทูลลาพระศาสดา
ออกเที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อไปสู่เสนาสนะป่า จึงได้เพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยถึง ๖๐ รูป
เวลาต่อมาเมื่อคณะของภิกษุมหาบาล เตรียมตัวพร้อมด้วยอัฐบริขารพร้อมแล้วจึงพากันออกเดินทางไปยังดงป่าที่อยู่ห่างเชตวันวิหาร ๑๒๐ โยชน์ ถึงชายแดนหมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่ง จึงได้แยกย้ายกันหาที่พักตามโคนไม้ โพรงถ้ำ
รุ่งเช้าภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวบ้านพอได้เห็นอากัปกิริยาอันน่าเลื่อมใสของพระทั้งหลาย จึงช่วยกันนำอหารมาใส่บาตร พร้อมกับเดินตามภิกษุทั้ง ๖๐ รูป มายังที่อยู่อาศัยของบรรดาภิกษุทั้ง ๖๐ รูป
พวกชาวบ้านเห็นความเป็นอยู่อันอัตคัดขัดสนเช่นนั้นจึงช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัย ถวายภิกษุทั้ง ๖๐ รูป
นับแต่นั้นมาภิกษุทั้งหลายก็เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในหมู่บ้านทุกเช้า
ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายา ค่ารักษาแต่ประการใด
ครั้งเมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่ทรงโปรดปรานผู้ประมาท
เพราะความประมาทเป็นประตูแห่งอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
จึงตั้งใจจะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน และนั่ง แต่เว้นอิริยาบถนอน
หนึ่งเดือนผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุมหาบาล น้ำตาไหลออก จากตาทั้งสองของท่านอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายทราบเข้าก็ร้อนใจ ไปตามหมอซึ่งปวารณาเอาไว้ หมอได้รีบประกอบยาถวายท่าน แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอด คงนั่งหยอดยา อาการจึงไม่ดีขึ้น
ทั้งๆ ที่ยาที่หมอประกอบให้นั้น เป็นยาดีมาก ที่เคยรักษาคนไข้มา หยอดเพียงครั้งเดียวก็หายแล้ว
หมอประหลาดใจมาก จึงเข้าไปสืบให้รู้ดูที่อยู่ของท่าน เห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน ด้วยเพราะพระมหาบาล ตั้งอธิษฐานไว้ในใจว่า จะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา
จึงไม่ต้องการทำลายความตั้งใจ แม้ตาทั้งสองจะแตก จะทำลายก็ยอม แต่จะไม่ยอมทำลายอธิษฐานธรรมที่ตั้งไว้ในใจ ท่านคงนั่งหยอดยาทางตาอยู่เช่นนั้น
หมอรู้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ โรคของพระ ไม่อาจระงับได้ เกรงเสียชื่อของตน จึงขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า เขาเป็นหมอรักษาท่าน แล้วไม่ยอมรักษาต่อ จนในที่สุด ดวงตาของท่านก็ดับการมองเห็นไปพร้อมกับการดับโดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวงของท่านบรรลุ “พระอรหันต์สุกขวิปัสสก” คือ การบรรลุธรรมด้วยสติปัญญา
ทันใดนั้นดวงตาคือปัญญาก็พลุ่งโพลง แจ่มจรัสขึ้น บริสุทธิ์ ไร้มลทิน ได้ปรากฎแก่ท่านพระมหาบาลแทนดวงตาเนื้อที่ดับไป
พุทธะอิสระ
——————————————–