วันนี้เรามาติดตามศึกษาประวัติขององค์พระมหากัจจายนะภาค๒ ตอนที่๒ กันต่อนะจ๊ะ
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
ความเดิมตอนที่แล้ว องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ให้ภิกษุผู้มีความกระสันอยากสึก ด้วยเพราะถูกเมียเก่าทำการยั่วยวน จึงทรงชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงคนนี้หาได้ทำลายพรหมจรรย์ของภิกษุในแต่ชาตินี้ไม่ แม้ในอดีตหญิงผู้นี้ก็ได้เคยทำมาแล้ว
ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นข้าอุบัติมาเกิดในครรภ์นางพราหมณี ภรรยาปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต
ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิด บรรดาอาวุธที่มีอยู่ทั่วพระนครลุกโพลงสว่างไสวดุจมีแสงไฟในกองเพลิงขึ้น เพราะเหตุนั้น ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ว่า โชติปาละ
โชติปาละกุมารนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว เรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักศิลา แล้วกลับมาแสดงศิลปะวิทยาแก่พระราชาทรงทอดพระเนตรจนเป็นที่ชื่นชอบขององค์ราชา จึงทรงประธานลาภยศให้แก่โชติปาละกุมาร ไม่นานต่อมาโชติปาละ ก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อลาภยศจึงได้ละทิ้งอิสริยยศเสียไม่ให้ใครๆ รู้แล้วหนีออกทางประตูเล็กของเมือง เข้าป่าไปบวชเป็นฤๅษี อยู่ในอาศรม ป่าไม้มะขวิดที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตรถวายฤาษีโชติปาละนั้นได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนทำฌานและอภิญญาให้เกิดเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านป่าและบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันทิ้งอาวาสบ้านเรือนมาบวชเป็นพระฤๅษีหลายร้อยห้อมล้อมเป็นบริวาร
ในบริวารหลายร้อยนั้น มีผู้ที่ได้เป็นลูกศิษย์ชั้นหัวหน้าอยู่ถึง ๗ องค์
องค์ที่ ๑ ชื่อว่า สาลิสสรฤๅษี ได้ออกจากอาศรมป่าไม้มะขวิด ไปอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสาโตทกา ในสุรัฏฐชนบท มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
องค์ที่ ๒ ชื่อ เมณฑิสสรฤๅษี ไปอาศัยนิคมกลัมพมูลกะ อยู่ในแว่นแคว้นของพระเจ้าปโชตกราช มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
องค์ที่ ๓ ชื่อ บรรพตฤๅษี ไปอาศัยอฏวีชนบทแห่งหนึ่งอยู่ มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
องค์ที่ ๔ ชื่อ กาฬเทวิลฤๅษี ไปอาศัยโขดศิลาแห่งหนึ่งอยู่ ณ ทักษิณาบท ในแคว้นอวันตี มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
องค์ที่ ๕ ชื่อ กิสวัจฉฤๅษี ไปอาศัยนครกุมภวดีของเจ้าทัณฑกี อยู่องค์เดียวในพระราชอุทยาน
องค์ที่ ๖ พระดาบสอนุสิสสะ เป็นอุปัฏฐากอยู่กับพระโพธิสัตว์
องค์ที่ ๗ ชื่อว่า นารทฤๅษี เป็นน้องชายกาฬเทวิลฤๅษี ไปอยู่ในถ้ำที่เร้นแห่งหนึ่ง ในระหว่างข่ายภูเขาอัญชนคิรี ในป่ามัชฌิมประเทศ แต่องค์เดียว
ก็ ณ ที่ใกล้ๆ ภูเขาอัญชนคิรี มีนิคมแห่ง ๑ มีมนุษย์อยู่มากด้วยกัน ในระหว่างภูเขาอัญชนคิรีกับนิคมมีแม่น้ำใหญ่ พวกมนุษย์พากันไปประชุมที่แม่น้ำนั้นมากขณะเดียวกันก็มี พวกนางวรรณทาสีรูปงามทั้งหลาย เมื่อเย้ายวนผู้ชาย ก็พากันไปนั่งแสดงท่าทีนั้น ณ ฝั่งแม่น้ำ
พระนารทดาบสเห็นนางวรรณทาสีผู้มีรูปโฉมงดงามคน ๑ เข้าจึงมีจิตปฏิพัทธ์ปรารถนาในตัวนาง จึงทำให้เสื่อมจากฌานจิตตกฟุ้งซ่านหมกมุ่น ตกอยู่ในอำนาจกิเลส นอนอดอาหารอยู่ ๗ วัน จนซูบผอม
ลำดับนั้น กาฬเทวิลดาบสผู้เป็นพี่ชายของนารทดาบสใคร่ครวญดูด้วยญาณ ก็รู้เหตุนั้น จึงเหาะมาแล้วเข้าไปในถ้ำที่อาศัยของนารทดาบสผู้น้อง
นารทดาบสเห็นกาฬเทวิลดาบส จึงถามขึ้นด้วยความไม่พอใจว่า ท่านมาทำไม?
กาฬเทวิลดาบสผู้พี่จึงตอบว่า เราเห็นท่านไม่สบาย เราจึงมาเพื่อรักษาท่าน
นารทดาบสจึงพูดขับไล่กาฬเทวิลดาบสว่าท่านอย่ายุ่งวุ่นวาย เราไม่ต้องการให้ท่านมายุ่งวุ่นวาย กาฬเทวิลดาบสพอได้ฟังดาบสน้องชาย กล่าวเช่นนั้นจึงคิดว่า เราไม่ควรสนใจต่อคำ รุกไล่ของนารทดาบส จึงไปนำตัวดาบส ๓ องค์ผู้เป็นเพื่อนมา คือ สาลิสสรดาบส เมณฑิสสรดาบส บรรพติสสรดาบส เพื่อช่วยกันเกลี้ยกล่อมให้นารทดาบส ยินยอมที่จะกลับตัว กลับใจ หันมาบำเพ็ญเพียร ดังเดิม
ฝ่ายนารทดาบสพอได้เห็นพี่ชายไปพาดาบสผู้ใหญ่ ๓ องค์มาเกลี้ยกล่อมตนจึงกล่าวขับไล่ว่าพวกท่านอย่ามาวุ่นวาย ยุ่งเรื่องส่วนตัวของเรา
กาฬเทวิลดาบสผู้พี่จึงคิดว่า เราควรจักไปเชิญสรภังคดาบสผู้อาจารย์มา น้องเราคงไม่กล้ารุกไล่ ดังเช่นที่ทำกับพวกเราและแล้ว กาฬเทวิดาบส
จึงเหาะไปเชิญสรภังคดาบส มาฝ่าย ท่านสรภังคดาบส ครั้นมาเห็นแล้วก็รู้ว่าศิษย์ของตนตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์มายา จึงถามว่า ดูก่อนนารทะ เธอตกอยู่ในอำนาจแห่งความหลงใหลในรูป กระมัง
เมื่อนารทดาบส พอได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็ลุกขึ้นถวายอภิวาทกล่าวว่า ถูกแล้ว ท่านอาจารย์ ท่านสรภังคดาบสจึงกล่าวว่า ดูก่อนนารทะ ธรรมดา ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามคุณก็ย่อมได้มาซึ่งอัตภาพนี้ ก็คือซูบซีดเร่าร้อนเสวยทุกข์ ในอัตภาพที่สองย่อมเกิดในนรก ดังนี้แล้วจึง
กล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า :-
ดูก่อนนารทะ บุรุษใดตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์ เพราะกาม บุรุษนั้นละโลกทั้ง ๒ ไปแล้ว ย่อมเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น แม้เมื่อยังเป็นอยู่ ก็ย่อมซูบซีดไร้ราศี
นารทดาบสได้ฟังดังนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่าการเสพกาม ย่อมเป็นสุข แต่ท่านมากล่าวว่าความสุขเช่นนี้เป็นทุกข์ ดังนี้เล่า หมายถึงอะไร?
ลำดับนั้น ท่านสรภังคดาบสได้กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ความว่า :-
ทุกข์เกิดมักจะเกิดมาจากเหตุที่แสวงหาความสุข สุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ ส่วนเธอนั้นประสบทุกข์มากกว่าสุข เธอจงหวังความสุขอันประเสริฐเถิด
ดูก่อนนารทะ สัตว์ทั้งหลายทำกาละลงในขณะที่เสพกาม ย่อมเกิดในนรกอันเป็นสถานที่มีทุกข์โดยส่วนเดียว ส่วนผู้รักษาศีลและเจริญวิปัสสนา แม้จะยากลำบาก ย่อมกลับได้รับความสุข ด้วยคุณแห่งปัญญา ด้วยผลแห่งศีล อาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวสรรเสริญคุณแห่งศีล คุณแห่งปัญญา
นารทดาบสกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ทุกข์นี้นั้น ข้าพเจ้าไม่อาจอดกลั้นได้
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกับนารทดาบสว่า ดูก่อนนารทะ ธรรมดาทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลควรอดกลั้นให้ได้ ดังนี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ความว่า :-
ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้ บุคคลนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมบรรลุสุข ปราศจากเครื่องประกอบ อันเป็นที่สุดแห่งความยากลำบาก
ดูก่อนนารทะ บุคคลใด ในกาลเมื่อความลำบาก คือทุกข์อันเป็นไปทางกายและทางจิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท หาอุบายกำจัดความลำบากนั้นเสียได้ อดกลั้นต่อความลำบากได้ ชื่อว่าไม่เป็นไปตามความลำบาก คือไม่เป็นไปในอำนาจความลำบากนั้น ใช้อุบายนั้นๆ ครอบงำความลำบาก คือทำความลำบากนั้นให้หมดไปได้ บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ บรรลุความสุขที่ปราศจากอามิส ย่อมประสบ บรรลุถึงซึ่งความสุขที่ปราศจากโยคะ จึงเป็นที่สุดของความอดกลั้นต่อความยากลำบากได้
นารทดาบสกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่ากามสุขเป็นสุขสูงสุด ข้าพเจ้าไม่อาจละกามสุขนั้นได้
พระมหาสัตว์จึงกล่าวกับนารทดาบสว่า ดูก่อนนารทะ ขึ้นชื่อว่าธรรม บุคคลไม่ควรให้พินาศด้วยเหตุไรๆ ก็ตาม ดังนี้
แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ความว่า :-
เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรมด้วยเหตุ เพราะปรารถนากามทั้งหลาย เพราะเหตุใช่ประโยชน์ เพราะเหตุว่าเห็นเป็นประโยชน์ ถึงเธอจะทำสุขในฌานที่สำเร็จแล้วให้นิราศไป ก็ไม่ควรเคลื่อนจากธรรมเลย
ดูก่อนนารทะ เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรมเพียงเพราะปรารถนาวัตถุกามเท่านั้น
เมื่อสรภังคดาบสแสดงธรรมด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้แล้ว
กาฬเทวิลดาบส เมื่อจะกล่าวสอนน้องชายของตน จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ความว่า :-
ความขยันของคฤหบดี ผู้อยู่ครองเรือน ดีชั้น ๑
การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้น ๒
เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้น ๓
เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้น ๔
ดูก่อนนารทะ เพราะเหตุนั้น เธออย่าเศร้าโศกไปเลยว่า ฌานของเราเสื่อมไปแล้ว ถ้าเธอไม่ตกอยู่ในอำนาจของความทะยานอยากในอินทรีย์แล้ว แม้ฌานของเธอที่เสื่อมไป ก็จักกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม
พระศาสดาผู้ตรัสรู้เองด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ทรงทราบความที่กาฬเทวิล
ดาบสกล่าวสอนนารทดาบสนั้น ตรัสพระคาถาที่ ๖ ความว่า :-
เทวิลดาบสผู้สงบระงับ ได้พร่ำสอนความเป็นบัณฑิตกะนารทดาบสนั้น ว่า บุคคลผู้เลวกว่าผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ไม่มีแล้ว มิได้มีสักนิดเลย
ต่อมา สรภังคศาสดาเรียกนารทดาบสนั้นมา กล่าวว่า ดูก่อนนารทะ เธอจงฟังคำนี้ก่อน ผู้ใดไม่ทำสิ่งที่ควรจะพึงทำก่อน ผู้นั้นย่อมเศร้าโศกร่ำไร เหมือนมาณพที่เที่ยวไปในป่าแล้วหาทางออกไม่ได้ฉะนั้น
จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
——————————————–