เทศกาลลอยกระทงมาถึงแล้ว

0
138

บทความ

เทศกาลลอยกระทงมาถึงแล้ว

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

 

เทศกาลลอยกระทงมาถึงแล้ว

 

เทศกาลลอยกระทงมาถึงแล้ว เชิญท่านทั้งหลายมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของนางนพมาศที่เกิดในยุคกรุงสุโขทัย สมัยสมเด็จพระร่วงเจ้าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

ซึ่งฉันได้รวบรวม เรียบเรียงเอาไว้ตั้งแต่ปี ๔๕ แล้วจัดทำเป็นรายการวิทยุทางสถานีวิทยุ FM 95.25 MHz ของ อสมท. กับพิธีกร นายก้องเกียรติ พุทธรักขิต อัดเสียงออกรายการที่อาคารวิทยุของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งมีนายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นเจ้าของ

 

ลอยกระทงปีนี้ขอนำเอาประวัติศาสนชนชาติไทย ตอนนางพนมาศมาเล่าสู่กันฟัง

 

เจตนาก็เพื่อให้ลูกไทยหลานไทย ได้สัมผัสถึงกลิ่นไอ เส้นสายลายชีวิตของบรรพบุรุษไทยอันงดงาม ที่คนไทยควรจักภาคภูมิใจ

 

ตำนานนางนพมาศ

 

พิธีกร : สำหรับช่วงมรดกธรรม มรดกไทย สัปดาห์นี้เราก็ได้มาสนทนาธรรมกับหลวงปู่พุทธอิสระ วัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐมกันอีกครั้งนะครับ ซึ่งสัปดาห์นี้ท่านได้ให้ความเมตตามาเล่าเรื่องความเป็นมาประวัติศาสตร์ชองชนชาติไทย สัปดาห์นี้เราก็ยังอยู่กันที่ประวัติศาสตร์ในยุคช่วงของสมัยพ่อขุนรามคำแหงและกำลังกล่าวถึงนางนพมาศนะครับ ซึ่งก็กำลังอยู่ในช่วงของการสนทนา หลวงปู่ก็กำลังจะเล่ากันต่อถึงที่มาที่ไป ก่อนที่นางนพมาศจะเข้าสู่วังนะครับ ก็ได้มีการสอบถามจากบิดาซึ่งเป็นปุโรหิต ประจำราชสำนักก็ได้ถามถึงคุณสมบัติ 5 ประการใช่ไหมครับหลวงปู่ครับ

 

หลวงปู่ : ใช่ คราวที่แล้วเราจบลงตรงที่บิดา คือ พระศรีมโหสถ ห่วงใยลูกสาวก็เฝ้าถามว่า เจ้าจะไปอยู่ในรั้วในวังเนี่ยจะต้องทำตัวอย่างไรให้เขารักใคร่ คนทั้งหลายจะได้ไม่รังเกียจเดียดฉัน ทั้งสาวแก่แม่นางทั้งหลายในราชสำนักทั้งไกลและใกล้เมื่อเห็นเจ้าต้องให้อภัย มีน้ำใจเมตตาต่อเจ้า ลูกสาว หรือนางนพมาศก็ยกเอาหรือกล่าวถึงคุณสมบัติของสีแห่งนก เบญจวรรณ 5 สี ว่านกเบญจวรรณเป็นที่รักของหมู่ชนทั้งหลายเพราะมีสี 5 สี ฉันใด อันตัวลูกน้อยนี้จากญาติพงศ์พันธุ์ไปอยู่ยังนิเวศน์ เขตเรือนหลวงก็จะประพฤติตนให้ต้องด้วยภาษิตที่ท่านสอนไว้ 5 อย่าง เหมือนกัน ก็คือ

 

1. ฉันจะต้องพฤติวาจาให้อ่อนหวาน อ่อนน้อม มิให้ล่วงเกินผู้ใด ที่ต้องเรียกว่า แม่ ก็เรียก แม่ ที่ควรเรียกพี่ ก็เรียก พี่ ที่ควรเรียกว่า ป้า ว่าน้า ก็เรียก ป้า น้า ก็ให้เรียกโดยมีความรู้สึกยำเกรง มีอัชฌาศัยไว้ ให้รู้ว่านั่น พี่ นี่ น้อง ไว้อัชฌาศัย

 

2. ต้องประพฤติกาย ให้ละมุนละม่อม ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ลำพองขน อีกทั้งยังต้องอ่อนน้อมและถ่อมตนเป็นมงคลสุขสวัสดิ์ ขจัดภัย

 

3. ต้องประพฤติดี มีน้ำใจ ไม่มุ่งหมายเคืองคิดริษยา ไม่ปองร้าย พยาบาท ขาดปัญญา ไม่นำพาปัญหามาสู่ตน

 

4. นั้นเล่าแม้นเราได้รับปราณี อารีรอบ ชอบในจิต ด้วยสุจริต ยุติธรรม ตามคำสอน จงดีด้วย ช่วยให้ดีไม่ขาดตอน จิตอาวรณ์ภักดี มีต่อไป

 

5. สิ่งที่ 5 พ่อท่านว่า สั่งสอนลูก ด้วยพันผูก กิจการโบราณสอน มีการกิจคิดให้ดี มีทำนอง ตามครรลอง ท่านผู้รู้ เป็นครูเรา

 

นกเบญจวรรณ ที่ประกอบด้วยสีทั้ง 5 ดังกล่าวมาแล้วฉันใด นกนั้นก็ควรจะเป็นที่รักของมวลหมู่มนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น แม้ตัวลูกน้อยนี้ก็จะประพฤติตามธรรมทั้ง 5 นี้ที่กล่าวมา ก็ย่อมเป็นที่รักแกเจ้า ท้าวพระยา นางสนม สาวสรรกำนันใน ทั่วราชนิเวศน์ในเขตเมืองหลวงฉันนั้น เป็นแน่ ขอบิดา มารดา และหมู่ญาติทั้งหลายอย่าได้วิตกไปเลย ด้วยความรัก ความเป็นห่วงที่มีต่อลูกสุดหัวใจ พระศรีมโหสถของนางนพมาศ บุตรสาวของตนก็ยังไม่วางใจ ก็ได้ถามต่อไป พูดเตือนสติ ต่อไป ไม่ให้ลูกมัวเมาประมาท โดยกล่าวว่า “นี่ลูกเอ้ย.. อันธรรมดา พระราชา พระมหากษัตริย์ ย่อมมีพระราชอาญาดั่งกองเพลิง มีพระ

 

เดชานุภาพดั่งอสรพิษร้าย มิควรที่จะเข้าไปคุ้นเคยกับตระกูลใด ๆ เลย หากผู้ใดประมาท ขาดปัญญาก็จะเปรียบประดุจ ตั๊กแตน แมงเม่า บินเข้ากองเพลิง บางขณะเพลิงนั้น มิได้เพียงแต่จะเผาผลาญตนเองแต่ลำพังเท่านั้น นะ อาจจะลุกลามเผาผลาญหมู่ญาติ และบ้านเรือน ทรัพย์สิน ให้ฉิบหาย พินาศไปเสียสิ้นภายในเจ็ดชั่วโคตรด้วยซ้ำ แม้ผู้ใดใกล้อสรพิษนั้นเล่า ถ้าประมาทขาดหิริโอตตัปปะ ทำให้อสรพิษนั้นเจ็บแค้น อสรพิษนั้นก็จะพิโรธ โกรธ ขบกัดเอา ทำให้เจ็บปวด พิการ ถึงกับตายได้ทีเดียวล่ะ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าจะทำอย่างไรลูก “ นางนพมาศสาวน้อยเมื่อให้ฟังบิดา มีจิตอาวรณ์สั่งสอนอบรมดังนั้น ก็สนองถ้อยคำแก่บิดาว่า “ลูกเข้าใจในความห่วงใยที่มีอยู่ในใจของบิดา ลูกรู้ดีว่าพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นใหญ่กว่าหมู่ชน ทั้งหลาย ทรงมีอำนาจ และพระราชอาญา เป็นที่ยอมรับ ยำเกรงของมหาชนทั้งปวง บุคคลผู้เข้ามารับสนองงาน รับใช้องค์ราชา ท้าวพระยา ย่อมยากที่จะได้รู้ว่าพระองค์จะทรงโปรดหรือไม่ ทุกอย่างคงต้องพึ่งบุญพา วาสนาช่วย รวมทั้งตัวเราด้วยช่วยกันอุดหนุน ถ้าตนมีอุปนิสัยดี มีปัญญา ประกอบด้วยความบากบั่น พากเพียร ช่วยรับผิดชอบราชกิจ สอดส่องดูแลให้รู้พระราชอัชฌาศัย และประพฤติตามพระราชหฤทัยให้ทุกสิ่ง อย่าเอาแต่ตนเป็นใหญ่ พึงเพียรพยายามอุตสาหะ ช่วยรับภาระในราชกิจนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำวับ ๆ แวม ๆ ดั่งแมงเม่า หิ่งห้อย อย่ากลัวคนมีบุญมาก กว่าเกรงเจ้า อย่าเข้าด้วยคนผิด จะเพ็ดทูลความสิ่งใดจงกล่าวด้วยความสัตย์ซื่อ นำพระราชดำริอันเป็นความลับภายใน ออกไปไขภายนอก อย่ามีน้ำใจโลเล รวนเร เชือนแชเช่นตั๊กแตนกระโดดเล่นไปมา ราชกิจจะเสีย ประโยชน์ของราษฎรที่จะพึงได้รับก็ขาด ความชอบของตนก็จะไม่มี มีจิตใจสวามิภักดิ์ รักใคร่ต่อพระเจ้าอยู่หัว ลูกน้อยทำได้ดั่งนี้ก็คงจะเป็นที่รักถูกพระอัธยาศัยในพระเจ้าอยู่หัวเป็นแน่ ย่อมจะทรงโปรดพระกรุณาชุบเลี้ยงอำนวย อวยยศให้ลูกเป็นแน่แท้ ตัวลูกน้อยนี้ก็พึงจะได้รับเป็นข้ารองเบื้องยุคลบาท ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ มีแต่จะตั้งใจศึกษาด้วยเกรงกลัวพระอาญา ลูกจะคอยสังเกตดูแบบแผนเยี่ยงอย่างบุคคลที่ทรงโปรด ว่ามีข้อวัตรปฏิบัติเช่นไร จึงทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา เมื่อลูกรู้ข้อวัตรปฏิบัติอย่างถี่ถ้วนแล้ว ลูกก็จะพยายามกระทำตามท่านผู้นั้นอย่างมิให้ขาดตกบกพร่อง คราใดที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดใช้งาน แม้มิมากเพียงแค่ให้จัดอุบะ พวงมาลัย ดอกไม้บุบผาชาติ หรือวาดเขียนกับสรรพวิทยาที่บิดาเมตตาสอน ลูกจะทูลถวายงานนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามพระอัธยาศัย แม้นพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงโปรด ก็คงเป็นกรรมของลูกที่ทำไว้แต่บางบรรพ์ชาติหลัง เป็นเหตุให้ประพฤติแชเชือน โลเล ทำให้สูญจากผลประโยชน์ ดั่งพ้องนิทานที่นักปราชญ์ได้กล่าวสอนไว้ความว่า “กาลหนึ่ง ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคายังมีต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ แผ่กิ่งก้านสาขายื่นลงไปในแม่น้ำ บรรดาฝูงปลาน้อยใหญ่ได้เวียนว่าย วนเวียนหลบแดดอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไทรนั้นเป็นอันมาก ณ ร่มไทรใหญ่ของอีกฟากหนึ่งมีสุมทุมพุ่มแขม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระต้อยตีวิด และอาศัยหาปลาในน้ำนั้นกินเป็นอาหาร บนต้นไทรพฤกษานั้นเล่าเป็นที่สถิตของรุกขเทวดาองค์หนึ่ง ในบรรดานกต้อยตีวิดในฝูงนี้มีนางนกน้อยตัวหนึ่งระลึกนึกคิดขึ้นมาว่าต้นไทรต้นนี้มีคุณแก่เรามากนัก พวกเราได้อาศัยร่มเงา ของกิ่งใบเป็นที่อยู่อาศัยหลับนอนโดยมิต้องแสงอาทิตย์ให้เร่าร้อน อีกทั้งยังได้อาหารจากฝูงปลาที่มาหลบอาศัยร่มเงาต้นไทรอยู่ในน้ำ ทำให้หมู่เราทั้งหลายไม่ต้องไปหาอาหารไกลเป็นที่ลำบาก นางนกต้อยตีวิดคิดดั่งนั้นแล้วจึงประสานปีกทั้งสองขึ้นกระทำอัญชุลีแล้วส่งเสียงร้องอันไพเราะสรรเสริญคุณของต้นไทรวันละสามเพลา เมื่อนางนกได้ออกไปหาอาหารอีกฟากหนึ่งของต้นไทร ซึ่งก็เป็นแม่น้ำที่มีปลาอยู่ชุกชุมนางพอได้กินปลาจนอิ่มหนำสำราญแล้วนางก็เอาปากอมน้ำแล้วบินกลับมายังที่อาศัย นางคายน้ำที่อมมารดที่โคนต้นไทรหวังว่าขอต้นไทรนี้จงเจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขา เติบโตขึ้นกว่าเก่า นางนกนั้นกระทำอยู่เช่นนี้มิได้ขาด ด้วยเหตุแห่งบุญที่นางได้กตัญญูกตเวทิตาต่อต้นไทร ผลบุญอันนี้ได้ดลบันดาลให้นางนกต้อยตีวิดมีขนหางและปีกที่งดงามบริบูรณ์ ด้วยสีสันวรรณะ ซ้ำยังมีร่างกายที่แข็งแรงยิ่งกว่านกทั้งปวงในฝูง บรรดานกน้อยต้อยตีวิดทั้งหลายในฝูงต่างยกย่องให้นางเป็นจ่าฝูง ฝ่ายรุกขเทวดาพฤกษาไทรแลเห็นนางนกต้อยตีวิดแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อต้นไทรเป็นอาจิณ รุกขเทวดานั้นก็มีจิตเมตตาบันดาลให้ปลาที่ถึงฆาตทำการกริยารอตายตรงหน้านางนกทุกครั้งที่นางออกไปหาอาหาร ทำให้นางนกและบริวารไม่ต้องไปแสวงหาปลา เหตุการณ์ดำเนินอยู่เช่นนี้เรื่อยมา จนอยู่มาวันหนึ่งนางนกต้อยตีวิดเกิดความมัวเมาประมาทสำคัญตนผิดคิดว่าการที่หมู่ปลามาว่ายวนรอคอยเราและบริวารมาจับกินและบริโภคอย่างง่ายดาย ด้วยเดชและบุญญาธิการในตัวเราเป็นแน่แท้ เราและบริวารได้อาหารมาบริโภคอย่างไม่ลำบาก นับแต่นั้นมานางก็ละเลยความกตัญญูต่อต้นไทร ซ้ำนางยังวางอำนาจขู่บังคับแก่นก

 

บริวารทั้งหลายให้ช่วยไปหาอาหารมาให้นางบ้าง ถึงเวลาที่นกทั้งหลายจะออกไปหาอาหารนางก็ร้องบอกว่าเดี๋ยวก่อนสหายประโยชน์อันใดที่ชาวเราจะรีบร้อนไปให้ลำบากฝูงปลาหน้าโง่เหล่านั้นยังไง ๆ ก็รอรับเราไปจับกินวันยังค่ำ เราไปเพลาใดก็ได้อาหารเพลานั้นเรามาบินเล่นให้สนุกสนานเพลินอุราจะดีกว่า บริวารนกจึงกล่าวว่าดีแล้วนายเรามาบินเล่นด้วยกันจะดีไหม พอเหนื่อยเราจะได้ไปกินน้ำด้วยกันในแม่น้ำ นั่นหมายถึงว่าบริวารนกได้ชักชวนนางนกต้อยตีวิดที่เป็นจ่าฝูงไปเล่นใกล้ ๆ แม่น้ำเมื่อเหนื่อยแล้วจะได้ลงไปเล่นน้ำ กินน้ำ อาบน้ำเล่นเป็นที่แก้กระหาย นกต้อยตีวิดผู้มัวเมาประมาทก็เห็นดีด้วยจึงชวนกันไปเล่น ณ ริมน้ำโคนต้นไทร พอครั้นมาถึงนางนกจ่าฝูงก็ชักชวนบริวารนอนแผ่หาง กางปีก อาบแดด (แหมทันสมัยเสียด้วยนะ เพลินไหมท่านผู้ฟัง พวกคุณเพลินแต่ฉันแย่นะสิ ) แล้วก็วิ่งหยอกล้อลงเล่นน้ำ แล้วก็ขึ้นมาคลุกฝุ่น อาบแดด ทำเช่นนี้จนบริวารแบบไปจับปลากินหมดเสียเมื่อไรก็ไม่รู้ เหตุการณ์ดำเนินมาเป็นเช่นนี้ (ยังไม่จบนะคุณก้อง ) จนเนิ่นนานมา จนนางนกก็ขาดอาหารนะสิ ทุกวัน ๆ พวกแอบกินอาหารหมดจนร่ายกายผ่ายผอมกำลังวังชาก็ถดถอย ขนปีกและหางที่เคยเงามันก็พลอยเศร้าหมองขุ่นมัวลง ด้วยเพราะนางเป็นผู้มีจิตใจแปรปรวน เรรวน ขณะนั้นรุกขเทวดาพฤกษาไทรเห็นนางนกต้อยตีวิดมีสันดานกำเริบ หลงมัวเมาปรามาสขาดสำนึกจึงดำริว่านางนกนี้เป็นผู้มีจิตไม่แน่นอน หลงลืมตัว ได้ดีแล้วก็มัวเมา เป็นความประมาทถ้าขืนเราปล่อยนานไป นางก็จะถึงแก่ความฉิบหาย คุณงามความดีที่นางสั่งสมไว้แต่อดีต เราควรจะสงเคราะห์สั่งสอนนางให้ได้สำนึก ดำริดั่งนี้แล้วเทวดาพฤกษาไทรก็จำแลงแปลงตนเป็นนกหนุ่มน้อยต้อยตีวิดรูปงาม ส่งเสียงไพเราะขันเสนาะเจื้อยแจ้ว เป็นที่ถูกใจต่อนางนกน้อยต้อยตีวิดเป็นยิ่งนัก เมื่อนกจำแลงแลเห็นนางนกต้อยตีวิดสมัครรักใคร่หลงใหลในตนก็กล่าวสุนทรพจน์สั่งสอนขึ้นว่า “นี่แน่ะน้องหญิง แต่ก่อนข้าเห็นเจ้าบูชาต้นไทรด้วยการกตัญญูรู้คุณ กตเวทิตา ตอบแทนคุณด้วยการอมน้ำมารด ณ โคนต้นไทรเป็นประจำอย่างนี้ ทุกวัน ๆ บุญอันนั้นก็สำเร็จประโยชน์ทำให้เจ้ามีรูปงาม มีกำลังวังชาดี มีลาภมาก แม้นรุกขเทวดาผู้สถิต ณ วิมานบนต้นไทรยังมีใจเมตตา กรุณา บันดาลให้เจ้าและบริวารหาอาหารบริโภคได้อย่างไม่ยากลำบากทุกเพลา มาบัดนี้เหตุไฉนเล่าเจ้าจึงมาละเลยการแสดงการคารวะระลึกถึงคุณของต้นไทรที่ได้ให้ความผาสุกแก่เจ้า ความเจริญและรุ่งเรือง แก่เจ้าเสียเล่า ควรแล้วหรือที่เจ้าจะเรรวนดุจขอนไม้ลอยน้ำ หาความสัตย์ความเที่ยงมิได้ดั่งนี้

 

(เขาบอกหมดเวลาอีกแล้วท่านผู้ฟังเอ๋ย เอาไว้โปรดติดตามตอนต่อไป)