สืบเนื่อง เรื่องเกิดจากคลับเฮ้าส์
๒๓ กันยายน ๒๕๖๔
ฉันสงสัยมานานแล้วว่า
โลกนี้มีความเท่าเทียมกันอยู่จริงหรือ
โลกนี้มนุษย์มีสิทธิ์อันเท่าเทียมกันจริงๆ หรือ
และด้วยข้อสงสัยดังกล่าว จึงพยายามแสวงหาคำตอบจากข้อมูลเท่าที่มีทั้งในโลกตะวันตก และโลกตะวันออก
รวมทั้งโลกและสังคมในอดีต และโลกสังคมในยุคปัจจุบัน
ด้วยนิสัยที่เมื่อสงสัยแล้วต้องหาคำตอบให้ได้ จึงทำให้รู้ว่า ยิ่งแสวงหาคำตอบ ยิ่งต้นหาข้อมูลที่ว่า ความเท่าเทียมมันมีอยู่จริงหรือไม่
จึงได้รู้ว่า คำว่า เท่าเทียม มันเป็นแต่เพียงความเฟ้อฝันของผู้ที่วันๆ เอาแต่ด้อยค่าตนเอง และเหม่อมองแต่ผู้ที่สูงส่งกว่าตนเท่านั้น
แม้แต่ในอดีตพระเทวทัตก็กระทำเช่นนี้ ถึงขนาดตีตนเสมอพระพุทธเจ้า
ยิ่งถ้าหากในหมู่สงฆ์สาวกขององค์พระบรมศาสดา ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ เรายิ่งไม่เคยพบความเท่าเทียมกันเลย
แล้วอะไรล่ะที่ทำให้พุทธสาวกไม่เท่าเทียมกัน
คำตอบ ก็คือ กรรม การกระทำของพวกเขาเหล่านั้นเอง ที่มีมาแล้วในอดีต และมีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังส่งผลไปถึงอนาคต จนหลายท่านถึงขนาดหมดอนาคตไปเลยก็มี
นอกจากกรรมทำให้ไม่เท่าเทียมกันแล้ว สิ่งที่มีอยู่ในตัวตนเดิมของผู้คนเหล่านั้น ที่เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา คือ ความเป็นผู้มีบุญอันดีที่เคยทำมาแล้วแต่กาลก่อน
ก็เป็นตัวการสำคัญในการแยกแยะจัดลำดับความไม่เท่าเทียมกันในหมู่พุทธสาวก
อีกทั้งยังมีคุณลักษณะปลีกย่อย ที่ทำหน้าที่จำแนกให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีก เช่น ศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติเหล่านี้คือเครื่องมือในการจำแนกให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุดังกล่าว เราท่านทั้งหลายจึงมักจะได้ยินว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่วเลวหยาบ เรียกสั้นๆ ว่า กัมมุนา วัตตติโลโก
และถ้ามนุษย์คนใดต้องการกำจัดกระบวนการแยกแยะที่ทำให้คนไม่เท่าเทียมกันออกไป นั้นก็เท่ากับว่า ยิ่งไปเพิ่มพูนช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น
เพราะมนุษย์และสัตว์แต่ละคนล้วนมีต้นทุน บุญกุศล และบาปมาไม่เท่ากัน
เมื่อเกิดมาแล้วยิ่งไม่ลงไม้ลงมือสร้างต้นทุนบุญกุศลให้เพิ่มพูนมากขึ้น นั้นก็เท่ากับว่าเขาเหล่านั้น จะต้องใช้ต้นทุนเก่าที่มีกันมามากน้อยแตกต่างกันเพียงใด
ความเท่าเทียมก็ยิ่งห่างไกลออกไปมากขึ้น
หากจะถามว่า แล้วทำไมองค์พระบรมศาสดาถึงได้ทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกปฏิบัติในกุศลกรรม บำเพ็ญบุญ มีศรัทธา บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เจริญปัญญา จนถึงวิมุตติล่ะ
นี่ก็แสดงว่า พระบรมศาสดา ทรงสนับสนุนความไม่เท่าเทียมกันล่ะสิ
อธิบายว่า เหมือนจะใช่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ด้วยเพราะพระบรมศาสดาทรงรู้และทรงสอนให้เห็นว่า ความเท่าเทียมกันมันมีอยู่จริง แต่ต้องอาศัยศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา และสุดท้ายวิมุตติ คือความหลุดพ้น ที่เรียกว่า นิพพาน
เมื่อหลุดพ้น ถึงสภาวะนิพพาน นั่นแหละคือความเท่าเทียมกันโดยแท้ แต่ถ้ามนุษย์และสัตว์ยังขาดแคลนศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ อยู่
แล้วมัวเอาแต่เพ้อฝันถึงความเท่าเทียมกันแบบลมๆ แล้งๆ นั่นคือความปรุงแต่ง เฟ้อฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แล้วพวกที่ชอบพูด ชอบเรียกร้องความเท่าเทียมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีล่ะ
เอาไว้ขยายความครั้งหน้าแล้วกันนะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
————————————————-