(ตอนที่ ๖) เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย

0
4
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๖)
๑๔ กันยายน ๒๕๖๔
จะพยายาม อธิบายความให้กระจ่างเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดพอจะทำได้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดีเป็นสถานที่อันเธอทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ดังนี้ ฯ”
อธิบาย คำว่า พร้อมทั้ง อรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ หมายถึง คำอธิบาย ขยายความ ของหัวข้อ หรือ เนื้อหาที่กล่าวไว้ หรือยกขึ้นแสดงนั้นๆ
เมื่อมีการหยิบยกเอาหัวข้อ หรือเนื้อหานั้นๆ มาขยาย อธิบายให้ผู้ฟัง
ผู้ศึกษา เข้าใจ อย่างแจ่มชัด จนสามารถ นำมาเป็นหลักในการประพฤติ ปฏิบัติ ได้จริง
เรียกอีกอย่างว่า การเพิ่มอรรถรส ในหัวข้อธรรม ที่จะบรรยาย
อธิบาย คำว่า บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง หมายถึง การจะขยายความ อธิบายความ ในหัวข้อธรรมใดๆ ที่ หยิบยกขึ้น จักต้องไม่ตีไข่ ใสสี จนกลายเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องยุ่งยากที่จะทำความเข้าใจ หรือไม่ก็จงอย่าได้อธิบายความจนเยิ่นเย้อ น้ำท่วมทุ่ง คลาดเคลื่อน จากสาระสำคัญของพยัญชนะที่ยกขึ้นมาเป็นหัวข้อบรรยาย
รวมความแล้ว การประกาศหลักการของพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ เพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นเข้าใจถึงอุดมการณ์ที่องค์พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ และทรงวางรากฐานเอาไว้ให้แก่พระสาวก ซึ่งนอกจากประกาศเผยแพร่ด้วยวาจาแล้ว
ภิกษุผู้ประกาศพรหมจรรย์นั้น ยังต้องลงไม้ลงมือประพฤติปฏิบัติในพรหมจรรย์ที่ตนประกาศนั้นอย่างเคร่งครัด รับผลของการประพฤติพรหมจรรย์นั้นได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสมด้วย
การประกาศพรหมจรรย์จึงจำเป็นต้องมีกิริยาและพฤติกรรม ที่พิเศษกว่าการแสดงธรรมด้วยการใช้หลักที่ว่า ทำดีให้เขาดู เป็นครูให้เขาเห็น
เหตุที่อธิบายความถึงวินัยกรรม ที่องค์พระบรมศาสดาทรงประทานให้ไว้มาทั้งหมดนี้
ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการอธิบายความที่สมบูรณ์ ด้วยเพราะมีข้อจำกัดในสติปัญญาที่มีอยู่น้อยนิด
แต่ที่อธิบาย ขยายความ มาหลายตอน ก็ด้วยมุ่งหวังว่า ภิกษุบริษัททั้ง ๔ จักตระหนัก สำนึกระลึกรู้ถึงบทบาทที่แท้จริงของตน ต่อการประกาศพรหมจรรย์ แสดงพระสัทธรรมว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรที่ไม่ทำให้เสียความงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
อีกทั้งภิกษุบริษัททั้ง ๔
ยังมีหน้าที่ที่จะต้องสืบทอดและประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ให้แก่ผู้ศรัทธาได้ประจักษ์ว่า
อุดมการณ์ของพรหมจรรย์นี้
มีอะไรเป็นหลักในการปฏิบัติ
มีอะไรเป็นเกราะป้องกันภัยแห่งวัฏฏะ
มีอะไรเป็นที่พึ่งพาเมื่อทุกข์ถาโถมเข้ามาราวี
มีอะไรเป็นเครื่องมือแก้ไข เมื่อเกิดสรรพปัญหาทั้งปวง
และมีอะไรเป็นผลเบื้องต้น ท่ามกลาง และผลที่สุดแห่งพรหมจรรย์
หวังว่า ท่านผู้ศึกษา คงจะได้อ่านทำความเข้าใจต่อพระวินัยกรรมขององค์พระบรมศาสดาหลายๆ ครั้ง หลายๆ รอบ จนเข้าอกเข้าใจ นำมาทำให้เกิดประโยชน์แก่ตน และ คนรอบข้างได้อย่างแท้จริง
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
————————————————-
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๑)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๒)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๓)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๔)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๕)
————————————————-