ถามมา ตอบไป

0
10
ถามมา ตอบไป
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
ถาม:
คนที่ชอบอ่านหนังสือจะทำให้มีสมาธิดีจริงหรือเปล่าครับ ?
ตอบ:
สมาธิ หมายถึง การมีอารมณ์ตั้งมั่น มีอารมณ์เดียว อันเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล แม้จะมีอารมณ์เดียว อันเป็นฝ่ายกุศลก็ตาม แต่กว่าจะเกิดอารมณ์ตั้งมั่นอารมณ์เดียว ก็ต้องผ่านอารมณ์อันเป็นฝ่ายกุศลอีก ๔ ขั้นตอนอันได้แก่
ปฐมฌาน ( ฌานที่ ๑ ) ประกอบด้วยอารมณ์ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน ( ฌานที่ ๒ ) ประกอบด้วยอารมณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา (มรรคจิต)
ตติยฌาน ( ฌานที่ ๓ ) ประกอบด้วยอารมณ์ สุขกับเอกัคคตา
จตุตถฌาน ( ฌานที่ ๔) ประกอบด้วยอารมณ์ อุเบกขากับเอกัคคตา (สติ)
ส่วนที่ถามว่า ชอบอ่านหนังสือจะทำให้เกิดสมาธิได้ดีนั้น น่าจะได้แค่ ขณิกสมาธิ ซึ่งจัดเป็นสมาธิชั้นเล็กๆ น้อยๆ เป็นสมาธิที่มีอุปการะคุณต่อการทำกิจกรรมการงาน และหาอยู่หากินตามวิถีชีวิตเท่านั้น หาได้เป็นสมาธิขั้นสูงใดๆ ไม่
ถาม:
พ่อแม่ บอกว่า กินปลาแล้วจะฉลาด มันเป็นอุบายหรือว่าอะไรครับ ?
ตอบ:
เป็นได้ทั้งอุบายให้ฉลาด และเป็นได้เพราะความจำเป็นที่ว่าเป็นอุบายให้ฉลาด ก็เพราะปลามีโปรตีน เพราะโปรตีนในเนื้อปลาจะย่อยง่าย มีคุณค่าในแง่ของการบำรุงสมอง การพัฒนาสมองในเด็ก
โดยเฉพาะปลาทะเล นอกจากจะได้โปรตีนแล้ว ยังจะได้แร่ธาตุไอโอดีน จะมีบทบาทในการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะป้องกันที่ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคคอพอก
ในกลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นแหล่งโปรตีน ที่รับประทานง่าย ย่อยง่าย ก็จะเป็นประโยชน์ของปลา
และที่ว่าเป็นเพราะความจำเป็นนั่นก็เพราะ ปลาเป็นอาหารโปรตีน ที่หาได้ง่าย และมีราคาถูกกว่าหมู ไก่ เนื้อ ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีราคาแพง
ในอดีตพ่อแม่ หาเงินมาเลี้ยงลูกหลายคนอย่างยากลำบาก จึงหาอาหารโปรตีนราคาถูกที่พอจะหาได้ตามวิถีชีวิตบ้านๆ
พุทธะอิสระ