ประวัติ หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ( ฉายาปัจจุบัน ) ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่บรรพบุรุษตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โยมพ่อชื่อนายชมภู โยมแม่ชื่อนางอัมพร นามสกุล ทองประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๙ แต่ได้ไปแจ้งเกิดช้า ดังนั้นในใบสุทธิพระจึงระบุว่าเกิดวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒
การศึกษาเล่าเรียนทางโลก ไม่จบชั้นประถมปีที่ ๔ ส่วนการศึกษาเล่าเรียนทางธรรมนั้นจบนักธรรมเอก
ท่านเริ่มบวชเรียนครั้งแรกเมื่ออายุ ๒๐ ปี โดยบวชที่วัดคลองเตยใน เขตคลองเตย กรุงเทพฯโดยมี – พระครูธีราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชได้เพียงพรรษาเดียวก็สึกออกไปเป็นทหาร ๒ ปี หลังเสร็จภารกิจทางทหาร ก็กลับมาบวชใหม่ที่วัดเดิม คือวัดคลองเตยใน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖ โดยมี – พระครูธีราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน เป็นพระอุปัชฌาย์ เช่นเดิม และ พระครูวรกิจวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดภาษี เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรสมพงษ์ วัดคลองเตยใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ” ธมฺมธีโร ” แปลว่า ” ปราชญ์ทางธรรม ”
ช่วงที่อยู่วัดคลองเตยใน มีผู้คนมากมายมาฟังท่านแสดงธรรม จนมีครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสแสดงธรรมที่วัดท่าซุง จ . อุทัยธานี การแสดงธรรมครั้งนั้นจับใจผู้ฟัง ซึ่งไม่คิดว่าพระหนุ่ม พรรษาไม่มาก จะแสดงธรรมได้ดีถึงเพียงนี้ น่าจะเป็นพระอาวุโสมากกว่า จึงเรียกท่านว่า ” หลวงปู่ ” แล้วก็เรียกกันต่อๆ มา
มีผู้ถามอยู่เสมอว่า “พุทธะอิสระ” แปลว่าอะไร หลวงปู่ได้ให้ความหมายว่า “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ย่อมมีเสรีภาพอิสระต่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร เพราะเรามีธรรมะในหัวใจ ย่อมอิสระกับทุกเรื่องที่พบพานเจอะเจอและเห็น มีคนเคยมาถามหลวงปู่ว่า “ทำไมหลวงปู่จึงยังดูหนุ่ม แต่คนเรียกหลวงปู่” ท่านมักตอบตามภาษิตโบราณว่า “คนจะงามงามน้ำใจใช่ใบหน้า คนจะสวยสวยจรรยาใช่ตาหวาน คนจะแก่แก่ความรู้ใช่อยู่นาน คนจะรวยรวยศีลทานใช่บ้านโต”
ท่านอยู่วัดคลองเตยในได้ประมาณ ๖ ปี ก็มาสร้างวัดอ้อน้อย ที่ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในปี ๒๕๓๒ โดย อุบาสิกาทองห่อ วิสุทธิผล เป็นผู้บริจาคที่ดินผืนนี้ให้ สร้างวัดเสร็จเป็นรูปเป็นร่างภายใน ๓ ปี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ยกฐานะขึ้นเป็นวัด ชื่อว่า ” วัดอ้อน้อย ” ( เดิมได้ทำเรื่องขอใช้ชื่อวัดว่า ” วัดธรรมอิสระ ” แต่ก็มีเหตุขัดข้องบางประการ ) เมื่อสร้างวัดเรียบร้อยท่านก็ให้พระลูกศิษย์ดูแลวัด ส่วนท่านก็ออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเป็นเวลากว่า ๕ ปี
หลวงปู่พุทธะอิสระกลับมาปกครองดูแลวัดอ้อน้อยอีกครั้ง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๘ ท่านได้ทำนุบำรุงวัดจนเจริญเรื่อยมา และเมื่อพระอุโบสถสร้างเสร็จเรียบร้อย จึงได้จัดพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย ในพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตของพระอุโบสถ
ต่อมาในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง แทนเจ้าคณะตำบลคนเก่าที่มรณภาพไป ( ซึ่งในใบแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลนี้ได้ลงอายุและพรรษาของพระอธิการสุวิทย์มากกว่าความเป็นจริงประมาณ ๔ – ๕ ปี ทั้งๆ ที่ท่านเองไม่ทราบมาก่อน เพราะไม่ได้ดูรายละเอียดจึงถูกใบปลิวโจมตีว่าโกงพรรษา ) ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ท่านยื่นหนังสือลาออกจากทุกตำแหน่งกับเจ้าคณะจังหวัดแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ
ต่อมาวันที่ ๑๓ ก . ย . ๒๕๔๔ มีใบปลิวเถื่อนโจมตีว่าโกงพรรษา ท่านจึงประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งต่อหน้าพระสังฆาธิการในจังหวัดนครปฐมที่มาประชุมกันที่วัดวังตะกู จ . นครปฐม และยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการกับเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ในวันที่ ๑๖ ก . ย . ๒๕๔๔ และได้รับการอนุมัติในวันที่ ๑๘ ก . ย . ๒๕๔๔
ขณะนี้หลวงปู่พุทธะอิสระ ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม หลวงปู่สอนพระเณรในวัด ว่า ของทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาถวาย ก็ให้ถือเป็นส่วนกลาง ให้ทุกคนใช้ด้วยความเคารพต่อผู้ให้ คือ ใช้อย่างทะนุถนอม และใช้อย่างประหยัด ท่านสอนให้ทุกคนยึด หลักในการดำรงชีวิตว่า “ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และทำตนให้ผู้อื่นพึ่งได้ด้วย” และให้ปฏิบัติธรรมในระหว่างปฏิบัติงาน โครงการต่างๆของท่านจึงมีมากมาย และหลวงปู่ยังเป็นผู้นำในการทำกิจการน้อยใหญ่ นานัปการอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งหมดนี้ท่านทำเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อศิษยานุศิษย์และเพื่อลูกหลานของท่าน ให้เป็นผู้ดำเนินชีวิตอย่างคุ้มค่าสมกับที่เกิดมาในบวรพุทธศาสนา