ขออนุญาตแชร์นะจ๊ะ
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
โดยส่วนตัวเชื่อว่าคนในประเทศนี้มีมากที่เชื่อว่า
บั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือมนุษย์
แต่เขาเลือกที่จะเงียบ
เพราะเคารพต่อความเชื่อของผู้อื่น
การแสดงความฉลาดด้วยการสันคลอนความเชื่อของผู้อื่น
บางทีการเงียบก็ฉลาดกว่า
********************************
Jessada Denduangboripant
2 พฤศจิกายน เวลา 11:11 น.
(ต้นทาง ลบโพสต์ไปแล้ว แต่ผมว่าประเด็นน่าสนใจดี เลยขอโพสต์ที่แคปไว้นะครับ)
(จากคอมเมนต์หนึ่ง .. ซึ่งผมชอบ) “แต่….การพูดความจริง ฉลาดกว่าแน่นอนครับ….
ลองคิดดูว่า หากพระพุทธเจ้าใช้ตรรกะว่า “เงียบ แล้วจะฉลาดกว่า” ไม่ทรงแสดงความจริง ในเรื่องที่ควรแสดง เพราะมัวแต่ให้เกียรติความเชื่อที่เหลวไหล ของพวกเดียรถีย์ นิครนถ์ ป่านนี้ศาสนาพุทธก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน…..
….ผู้สมาทานเป็นพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุ ผู้เปรียบเสมือนเสาหลักสำคัญต้นแรกๆ ของโครงสร้าง แห่งพุทธบริษัท…พึงมีเมตตาต่อกัน ด้วยการชักนำ ชี้ชวน ให้ชาวพุทธด้วยกันเห็นถึงความจริงอันไม่หลอกลวง ดีกว่าถืออัญญานุเบกขา หรือใช้วาทกรรมสมัยนิยม เช่น “เคารพในความเชื่อ” ทั้งๆที่ความเชื่อนั้น น่าจะเป็นไปข้างฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ อันกัลยาณมิตร ผู้หวังดีต่อกัน ควรชี้ขุมทรัพย์ ด้วยความกล้าหาญที่จะกล่าวเตือน เสนอแนะ ชักชวน ชี้ช่อง ให้ชาวพุทธด้วยกัน หันเข้ามาสู่ครรลองแห่งพุทธธรรม อันเป็นสัมมาทิฏฐิ….จึงจักควร มิใช่หรือ?
..ด้วยความเคารพ ครับ..”
ที่มา : https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/2907968462667102?ref=embed_post
****************************
ทีนี้ลองมาดูความจริงอีกมุมหนึ่ง ของพระธรรมวินัยนี้บ้างนะจ๊ะ
****************************
การระงับอธิกรณ์ หมายถึง วิธีระงับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ และที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย ๗ อย่าง
สองในเจ็ดนั้นก็คือ
ข้อ ๕. เยภุยยสิกา
เยภุยยสิกา แปลว่า ตัดสินเอาตามคำของคนมากเป็นประมาณ วิธีนี้ใช้สำหรับความเห็นของคนทั้งหลายจำนวนมากที่มีความเห็นแตกต่างกัน ให้ฟังเสียงข้างมาก
พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็เยภุยยสิกาเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจระงับอธิกรณ์นั้นในอาวาสได้ พึงพากันไปยังอาวาสที่มีภิกษุมากกว่า ภิกษุทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุมในอาวาสนั้น ครั้นแล้วพึงพิจารณาแบบแผนแห่งธรรม ครั้นพิจารณาแล้วพึงให้อธิกรณ์นั้นระงับอย่างที่เรื่องจะลงกันได้ในแบบแผนแห่งธรรมนั้น ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นเยภุยยสิกา ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยเยภุยยสิกาอย่างนี้”
ข้อ ๗. ติณวัตถารกะ
ติณวัตถารกะ แปลว่า ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า, กรรมอันสงฆ์พึงทำดุจใช้หญ้ากลบไว้ เป็นวิธีระงับอธิกรณ์ในลักษณะประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ชำระสะสางหาความเดิม เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวนให้ละเอียดก็จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น จึงให้ใช้วิธีนี้เพื่อตัดตอนยกเลิกเสีย ไม่สะสางความหลังกันอีก เหมือนคูถหรือมูตรที่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ก็รังแต่จะส่งกลิ่นเหม็นและดูไม่สบายตา หากใช้หญ้าต่างๆ กลบไว้เสียก็จะทำให้หายเหม็นและสบายตาขึ้น
พระบาลี : “ดูก่อนอานนท์ ก็ติณวัตถารกะเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะ ถึงวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิดและได้พูดล่วงเกินอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุม ครั้นแล้วบรรดาภิกษุที่เป็นพวกเดียวกัน ภิกษุผู้ฉลาดพึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือประกาศให้สงฆ์ทราบว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะ ถึงวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงละเมิดและได้พูดล่วงเกินอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหนักและอาบัติเนื่องกับคฤหัสถ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน”
ต่อจากนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นพวกเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง ภิกษุผู้ฉลาดพึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือประกาศให้ทรงทราบว่า ฯลฯ
ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แลเป็นติณวัตถารกะ ก็แหละการระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยติณวัตถารกะอย่างนี้”
****************************
เล่นกับความเชื่อของมนุษย์ นอกจากจะต้องใช้ความจริงแล้ว ยังต้องประกอบไปด้วยความศรัทธา ยอมรับด้วย
หากมีแต่ความจริง แต่ผู้คนทั้งหลายเขาไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ความจริงนั้นก็จะอยู่แก่บุคคลที่รู้เท่านั้น
หาได้แผ่ขยาย ขจรขจายไปไกลได้ไม่
เช่นนี้แทนที่ความจริงนั้นจักสร้างคุณูปการ ปลดปล่อยความเชื่อที่ผิดๆ มันจะกลายเป็นการสร้างความแตกแยก ร้าวฉาน ไม่ได้เป็นผลดีกับใครๆ ใดๆ เลย
และถ้าหากคิดจะกล่าวอ้างถึงพระพุทธเจ้าในการแสดงสัจจะความจริง พระองค์ท่านก็มิได้แสดงอย่างส่งเดช
แต่ทรงทำให้บุคคลที่จะรับรู้ความจริงเหล่านั้นเกิดศรัทธาปสาทะ จึงจะทรงแสดงหลักแก่งความจริงทั้งหลายให้รับรู้
ไม่เว้นแม้แต่พระอรหันต์เถระทั้งหลาย ต่างล้วนสร้างให้เกิดศรัทธาก่อนทั้งนั้น จึงจะแสดงความจริงในลำดับต่อไป
เจริญปัญญา
พุทธะอิสระ
——————————————–