ถึงเวลาพาพระออกธุดงค์

0
602

หลังจากได้พักรักษาตัวได้คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเช้าก็เดินทางไปบ่อพลอยเมืองกาญเพื่อนำพระสมาทานธุดงค์ ที่โบสถ์กลางป่า ณ ธุดงคสถานบ้านลำอีซู

เมื่อพูดถึงเรื่องธุดงค์ ทำให้นึกถึงพวกลัทธิอลัชชี”ทำจนตัวตาย” ขึ้นมาทันที ที่ลัทธินี้เขาประกาศเดินธุดงค์อีเว้นท์ตามข้างถนน แถมมีบรรดาหน้าม้าและนักเรียนที่ถูกครูบังคับเกณฑ์มาให้มานั่งโรยกลีบดอกดาวรวย เพื่อให้นักบวชรับจ้างพวกพ้องอลัชชีมาทำทีวางท่าเดินแบกกลด ตะพายบาตร ชักแถวเดินตามขบวนรถโฆษณา ประกาศเชิญชวนให้คนมาบริจาคและโรยกลีบดอกดาวรวย

พอเสร็จงาน นักธุดงค์รับจ้างเหล่านี้ ก็รับซองจากสาวกลัทธิทำจนตัวตายไปกันคนละซอง ส่วนเงินในซองจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับวิทยฐานะ ยศถาบรรดาศักดิ์ หากเป็นระดับกรรมการมหาเถร ก็ต้องได้เป็นแสนขึ้น ระดับเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท และก็ลดหลั่นกันลงมา ตามฐานะจนถึงชั้นลูกกระจอก นักบวชเขมร ลาว พม่า ก็ ๕๐๐ จนถึง ๑,๐๐๐ บาท นี่คือธุดงค์ของลัทธิอลัชชีที่พวกเขาทำๆ กันในห้วงเวลาที่ผ่านมา

นับตั้งแต่พุทธะอิสระออกมาโวยวาย พี่น้องไทยผู้มีหัวใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ออกมาต่อว่า สื่อสารมวลชนต่างช่วยกันตำหนิติด่า สังคมเริ่มมองเห็นความชั่วร้ายของลัทธินี้ ที่กำลังนำเอาการปฏิบัติธุดงค์ของพระผู้ต้องการเผาย่างกิเลส สำรอกกิเลส มาธุดงค์พอกพูนกิเลส ธุดงค์เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ธุดงค์เพื่อการเรี่ยไรหาเงิน ธุดงค์เพื่อย่ำยีอริยวินัย

สังคมพอรับรู้ความจริง ลัทธิอลัชชีทำจนตัวตาย จึงไม่กล้าโผล่หน้าออกมาเดินธุดงค์อีเว้นท์อีกเลย

ทีนี้มาดูธุดงค์ ๑๓ ของพระพุทธเจ้าว่าทรงบัญญัติเอาไว้อย่างไร ก่อนอื่นต้องอธิบายคำว่า ธุดงค์ เพื่อให้เข้าใจความหมายที่ถูกต้องชัดเจนกันก่อน

ธุดงค์ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่พิเศษ เคร่งครัดกว่าการปฏิบัติตามปกติธรรมดา

ธุดงค์จึงถือเป็นอริยปฏิบัติ คือ ข้อปฏิบัติของผู้ที่หวังความเป็นพระอริยเจ้า

นอกจากนี้ธุดงค์ยังถือว่า เป็นหลักปฏิบัติที่ทำให้กรรมฐานเจริญก้าวหน้า

และหากปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งใน ๑๓ ข้อแล้ว ทำให้ธรรมฐานไม่เจริญก้าวหน้า ท่านก็ให้เลิกถือธุดงค์นั้นเสีย

ด้วยเหตุผลนี้ ก็แสดงให้เห็นเด่นชัดหรือยืนยันอย่างแน่นอนว่าการถือธุดงค์ก็เพื่อหวังความเจริญในกรรมฐาน หวังความบริสุทธิ์สะอาดของจิตวิญญาณ หาได้ธุดงค์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพื่อการพอกพูนกิเลสแต่อย่างใดไม่

แล้วธุดงค์ ๑๓ มีอะไรบ้าง

๑. นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่เก็บมาจากกองขยะหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วเท่านั้น

๒. ใช้ผ้าแค่ ๓ ผืนเท่านั้น คือ ผ้านุ่งเรียกว่า สบง ผ้าห่มเรียกว่า จีวร ผ้าห่มซ้อนนอกเรียกว่า สังฆาฏิ (ข้อนี้อาจจะเป็นผ้าที่ชาวบ้านเขานำมาถวายก็ได้)

๓. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร (ถ้าผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดก็จะไม่รับกิจนิมนต์ใด ๆ นอกจากนิมนต์ไปรับบาตรเท่านั้น และเป็นการรับบาตรครั้งเดียวของันนั้นเท่านั้น

๔. ถือการบิณฑบาตไปเป็นแถว ไปตามลำดับอายุพรรษา หรือตามลำดับมาก่อนมาหลัง จะไม่มีการแก่งแย่งแซงกัน

๕. ถือการฉันมื้อเดียว และต้องไม่เลยเวลาที่พระวินัยกำหนดไว้
๖. ถือการฉันในบาตรเท่านั้น ไม่มีภาชนะใส่อาหารคาวหวานอื่นใด นอกจากทุกอย่างรวมกันอยู่ในบาตร

๗. ถือการปฏิเสธอาหารที่ไม่ได้มาจากการบิณฑบาต แม้อาหารนั้นจะปราณีอย่างดีมีราคาแพงก็ตาม ก็ห้ามรับ

๘. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร โดยมีระเบียบอยู่ว่า ต้องอยู่ห่างจากบ้านคน ๕๐๐ ชั่วธนู

๙. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร

๑๐. ถือการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร โดยมีระเบียบปฏิบัติว่า ที่โล่งเจ้งนั้นจะต้องไม่มีร่มเงาพาดผ่าน

๑๑. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ท่านให้พิจารณาอยู่ในที่เหนือลม อย่าอยู่ใต้ลมเพราะอาจทำให้ให้เกิดโรค

๑๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดเอาไว้ให้

๑๓. ถือการยืน เดิน นั่ง เป็นวัตร แต่ห้ามนอน

การปฏิบัติธุดงค์ ๑๓ ข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบหมดทุกข้อก็ได้ ท่านให้ดูความเจริญของสมณธรรมเป็นหลัก หากปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ทำให้จิตสงบมีสติตั้งมั่น มีปัญญารู้เท่าทันกิเลส สมณธรรมเจริญ จะปฏิบัติข้อนั้นข้อเดียวก็ได้ หรือจะเพิ่มการปฏิบัติในข้ออื่น ๆ ไปโดยลำดับก็ได้ แต่ต้องคอยสังเกตว่า สมณธรรมเจริญขึ้นตามลำดับด้วยหรือเปล่า

หากสมณธรรมเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นก็ปฏิบัติต่อ แต่หากสมณธรรมเสื่อมลง ท่านก็ให้หยุด ถอยกลับไปปฏิบัติธุดงค์ในข้อที่ทำให้สมณธรรมเจริญเท่านั้น

รวมความแล้ว พระพุทธเจ้าทรงให้สังเกตผลที่ได้อันเกี่ยวกับความสะอาดของจิตเป็นหลัก

อีกทั้งการปฏิบัติธุดงค์นั้น ท่านก็จำแนกเอาไว้ ๓ ขั้นตอนคือ

๑. อย่างเบา ปฏิบัติให้พอรู้ พอเป็นอานิสงค์ ติดนิสัย

๒. อย่างกลาง เลือกปฏิบัติในข้อที่ตนเห็นว่าพอทำได้

๓. อย่างอุกฤษฏ์ ปฏิบัติในแต่ละข้ออย่างจริง ๆ จัง ๆ จนครบหมดทุกข้อ และทำตลอดชีวิต

มีข้อที่พุทธบริษัทต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดว่า ธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อ ไม่มีข้อใดที่ห้ามใส่รองเท้าเลย

แต่ก็ไม่รู้กลายมาเป็นความเชื่อผิด ๆ ของชาวบ้านได้อย่างไรว่า “พระธุดงค์จะไม่ใส่รองเท้า” ไม่รู้ชาวบ้านไปเอาความเชื่อนี้มาจากไหน

หรืออาจจะเป็นเพราะมีนักบวชบางพวกอยากจะอวดความเคร่งครัดของตน เพื่อเรียกศรัทธาว่า ตนเป็นพระธุดงค์จึงแสดงอาการไม่ยอมใส่รองเท้า หรือไม่ก็ชาวบ้านไปคิดเอาเองเข้าใจเอาเองว่า พระธุดงค์ต้องไม่ใส่รองเท้า

ก็พยายามเปิดวินัยปิฎกค้นหาดูว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามภิกษุใส่รองเท้าในเวลาไหนบ้าง

จึงพบปรากฏใน ธรรมเทศนาปฏิสังยุต หมวดเสขิยวัตร สิกขาบทที่ ๕-๖ ความว่า

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ แล้วสวมรองเท้าอยู่ หรือถอดรองเท้าแต่ยังเหยียบอยู่บนรองเท้า
หากภิกษุใดแสดงธรรมแก่คนที่ไม่เป็นไข้ แล้วยังสวมรองเท้าอยู่ ภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นต้องอาบัติ ทุกกฎ เหตุที่ต้องมีข้อห้ามเช่นนี้ เพราะต้องการให้ผู้ฟังธรรมเคารพในธรรม และภิกษุก็ไม่ควรจะส่งเสริม ให้ผู้ฟังไม่เคารพในธรรม

ในศีล ๒๒๗ ข้อ ได้กล่าวถึงเรื่องรองเท้าเอาไว้เพียงเท่านี้ หาได้มีกล่าวถึงรองเท้าในเรื่องหรือข้ออื่น ๆ เลยไม่ หรือฉันอาจจะยังค้นหาไม่พบ ศึกษาไม่ถึงก็เป็นได้ แต่ถ้าพูดในหลักของธุดงค์ ๑๓ ไม่มีคำว่าห้ามไม่ใส่รองเท้าปรากฎอยู่เลย

วันนี้คงต้องขอพักเรื่องธุดงค์เอาไว้แค่นี้ก่อน

พุทธะอิสระ